การตั้งสายพานร่อง V ไม่ได้ระดับมีผลเสียอย่างไร ?
สารบัญ
สายพาน ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในระบบส่งกำลังมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้งาน หากเราตั้งสายพานตึงเกินไปหรือหย่อนเกินจนไปย่อมส่งผลเสียต่อระบบส่งกำลัง อีกทั้งยังอาจทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลังเสียหายไปด้วย ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่า หากเราตั้งสายพานไม่ได้ระดับจะส่งผลเสียอย่างไร
การติดตั้งสายพานร่อง V ตึงเกินไป ส่งผลอย่างไร
หากเราตั้งสายพานตึงจนเกินไป ย่อมส่งผลเสียต่ออุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งกำลัง ตัวอย่างเช่น
- เกิดความเค้นสะสมมากเกินไป : พูลเล่ย์และตลับลูกปืนจะเกิดความเค้นสะสมมากขึ้น ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง
- เกิดการสึกหรอที่เพิ่มมากขึ้น : หากเราตั้งสายพานตึงเกินไป สายพานร่องวีจะขัดสีกับร่องของพูลเล่ย์ ส่งผลให้ร่องของพูลเล่ย์เกิดการสึกหรอไวกว่าปกติ ส่งผลให้อายุการใช้งานสั้นลง
- ตลับลูกปืนรับโหลดมากขึ้น : แรงดึงที่มากเกินไปทำให้ตลับลูกปืนรับโหลดมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ตลับลูกปืนมีอายุการใช้งานที่สั้นลง
- เกิดความร้อนสูงเกินไป: แรงเสียดทานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงดึงที่มากเกินไป อาจสร้างความร้อนส่วนเกิน ซึ่งนำไปสู่การลื่นไถลของสายพาน
การติดตั้งสายพานร่อง V หย่อนเกินไป ส่งผลอย่างไร
หากเราตั้งสายพานหย่อนจนเกินไป ย่อมส่งผลเสียต่ออุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งกำลัง ตัวอย่างเช่น
- การเลื่อนหลุด : สายพานร่องวีที่หลวมอาจลื่นไถลหรือสูญเสียการยึดเกาะ ซึ่งส่งผลให้การส่งกำลังลดลงและการทำงานของส่วนประกอบที่ใช้ในการส่งกำลังมีประสิทธิภาพลดลง
- การสึกหรอที่เพิ่มขึ้น: สายพานร่องวีที่หลวมอาจทำให้สายพานและพูลเล่ย์สึกหรอเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสัมผัสที่ไม่สม่ำเสมอของพื้นที่หน้าตัด และการเคลื่อนไหวที่มากจนเกินไป
- การกระโดดของสายพาน: หากสายพานหลวมมาก สายพานร่องมี V มีโอกาสที่จะหลุดออกจากร่องของพูลเล่ย์ ทำให้สูญเสียการส่งกำลังของระบบ และอาจเกิดอันตรายได้
จะเห็นได้ว่าในทั้งสองกรณี ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสายพานตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไปนั้น ย่อมส่งผลต่ออายุการใช้งานของพูลเล่ย์และตลับลูกปืน ดังนั้นการตั้งระดับความตึงสายพานจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบส่งกำลังด้วยสายพานร่อง V เรามาดูกันครับว่า มีเครื่องมืออะไรที่จะช่วยในการตั้งสายพานร่องวีให้ได้ค่าที่เหมาะสม
การตั้งสายพานร่อง V ให้ได้ระดับนั้นทำอย่างไร
ในการตั้งสายพานให้ได้ระดับนั้น เราจะใช้เครื่องมือสำหรับวัดความตึงของสายพาน นั้นก็คือ “ปากกาวัดความตึงสายพาน” นั่นเอง ก่อนเราจะไปดูวิธีการใช้งานนั้น เราไปดูส่วนประกอบที่สำคัญของปากกาวัดความตึงสายพาน กันก่อนครับ
ส่วนประกอบของปากกาวัดความตึงสายพาน
ปากกาวัดความตึงสายพาน ประกอบด้วย ส่วนประกอบดังนี้
- ตัวกดสายพาน : ทำหน้าที่เป็นตัวยึดสายพานไม่ให้เกิดการไถลในขณะที่ทำการกด จะสังเกตุเห็นว่าจะมีปลายแหลมเล็กๆ ช่วยในการเกาะยึดสายพาน
- สเกลระยะ Span : เป็นสเกลที่ใช้สำหรับตั้งค่าปากกาวัดความตึงสายพาน ก่อนการใช้ทดสอบค่าแรงยุบตัว ซึ่งมีหน่วยเป็นนิ้ว
- โอริงวงใหญ่ : เป็นขีดสเกลที่ใช้สำหรับตั้งค่าระยะ Span ที่วัดได้ ก่อนการใช้งานปากกาวัดความตึงสายพาน
- คลิปหนีบ : ใช้สำหรับหนีบกับอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการพกพา
- สเกลค่าแรงยุบตัว : เป็นสเกลที่ใช้สำหรับอ่านค่าแรงยุบตัวของสายพาน ซึ่งมีด้วยกัน 2 หน่วยที่สามารถอ่านได้ คือ lbf และ kgf
- โอริงวงเล็ก : เป็นขีดสเกลที่ใช้สำหรับอ่านค่าแรงยุบตัวของสายพาน
- ก้านสำหรับกด : เป็นชิ้นส่วนที่ใช้สำหรับกดเพื่อตรวจสอบค่าแรงยุบตัว ข้อสังเกตุคือจะมียางหุ้มในบริเวณนี้
จบไปแล้วนะครับสำหรับบทความ การตั้งสายพานไม่ได้ระดับมีข้อเสียอะไรบ้าง เพื่อนๆ คงจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อยเกี่ยวกับปัญหาของการตั้งสายพานทั้งแบบตึงเกินไปและแบบหย่อนเกินไป รวมไปความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบความตึงของสายพาน ในบทความถัดไปเรามาดูกันครับว่า วิธีการใช้งานปากกาวัดความตึงสายพานนั้น มีขั้นตอนการใช้งานอย่างไร