วิธีการติดตั้ง และปัจจัยในการเลือกใช้หัววัด (Contact probe) อย่างเหมาะสม
สารบัญ
ในบทความก่อนหน้านี้เราได้แนะนำเกี่ยวกับ Contact probe ชนิดต่างๆ ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมกันไปแล้ว จะเห็นได้ว่า Contact probe นั้นมีความสำคัญต่อการวัดค่าทางไฟฟ้าของชิ้นงานเป็นอย่างมาก เราจึงควรพิจารณาปัจจัยในการเลือกใช้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงติดตั้งให้ถูกวิธีเพื่อให้การวัดค่าทางไฟฟ้า เป็นไปได้อย่างถูกต้องแม่นยำที่สุด
ปัจจัยในการเลือกใช้หัววัด (Contact Probe) ที่เหมาะสม
การเลือกใช้ Contact probe ที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยให้ได้ค่าการวัดทางไฟฟ้าที่แม่นยำแล้ว ยังช่วยให้ Contact probe มีอายุการใช้งานที่ยาวนานอีกด้วย เราจึงควรทำความเข้าใจรูปแบบการใช้งานที่ต้องการ โดยพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1. รูปทรงของหน้าสัมผัสเป้าหมาย
เนื่องจากรูปทรงของจุดที่เราจะทำการวัดนั้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่น แบบแบน แบบกลม และแบบพิน เป็นต้น การที่จะวัดค่าทางไฟฟ้าของเป้าหมายให้ได้อย่างเสถียรและแม่นยำนั้น จำเป็นต้องเลือกรูปทรงของหัววัดให้เชื่อมต่อกับหน้าสัมผัสของชิ้นงานได้อย่างมั่นคง และเหมือนเดิมทุกครั้งที่วัด โดยสามารถดูตัวอย่างของชนิดหัววัดและหน้าสัมผัสแบบต่างๆ ได้ตามภาพด้านล่าง
2. ระยะสโตรคในของหัววัด
ระยะสโตรคคือระยะที่หัววัดสามารถหดได้ เมื่อหัววัดกดไปที่หน้าสัมผัสในแนวแกน เพื่อให้สามารถหัววัดสามารถเชื่อมต่อกับหน้าสัมผัสได้อย่างสนิท และลดความเสียหายเมื่อเชื่อมต่อกับหน้าสัมผัสในแต่ละครั้ง โดยระยะที่เหมาะสมในการวัดคือไม่ควรเกิน 2/3 ส่วนของระยะสโตรคสูงสุดที่หัววัดสามารถเคลื่อนที่ได้
3. แรงสปริงของหัววัด
แรงสปริงจะส่งผลต่อคุณภาพในการเชื่อมต่อกับหน้าสัมผัส โดยหากเลือกแรงสปริงที่น้อยเกินไปอาจส่งผลให้การเชื่อมต่อไม่เสถียร ในขณะที่ หากเลือกแรงสปริงที่สูงเกินไปก็อาจทำให้การเสียหายที่หน้าสัมผัสของชิ้นงานได้ โดยหน่วยที่มักจะใช้ในการระบุแรงสปริงคือ นิวตัน (N) หรือ กิโลกรัมฟอร์ซ (kgf)
4. คุณสมบัติทางไฟฟ้า
คุณสมบัติทางไฟฟ้าที่ต้องพิจารณาขึ้นอยู่กับปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในวงจร ในการเลือกใช้หัววัดทางไฟฟ้า ได้แก่ แรงดันไฟฟ้าสูงสุดที่รับได้(Allowable Voltage [V] ), กระแสไฟฟ้าสูงสุดที่รับได้ (Allowable Current [A] ) และค่าความต้านทานทางไฟฟ้า (Resistance [Ω])
5. รูปแบบการใช้งานหัววัด
ชนิดของหัววัดทางไฟฟ้าที่นิยมใช้ในงานอุตสาหกรรมถูกออกแบบมาหลายชนิด เพื่อให้เหมาะกับรูปงานประเภทต่างๆ รวมไปถึงพื้นที่ในการใช้งาน เช่น หัววัดแบบ Contact Probes & Receptacle, โพรบแบบหัววัด2ด้าน (Double Tipped probe), โพรบแบบหมุน (Turn probe) และ โพรบแบบรวม (Integrated probe) เป็นต้น โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก บทความ ”ชนิดของ Probe ที่นิยมใช้ในงานอุตสาหกรรม”
หัววัดทางไฟฟ้า (Contact probe) ติดตั้งอย่างไร
เนื่องจากหัววัดทางไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีความบอบบางเป็นอย่างมาก หากติดตั้งไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่หัววัดไฟฟ้า และส่งผลให้ค่าทางไฟฟ้าที่วัดได้มีค่าผิดพลาดได้ เราจึงควรติดตั้งหัววัดทางไฟฟ้าอย่างระมัดระวังเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการวัดสูงสุด โดยทำตามลำดับตามนี้
1. เตรียมวัสดุในการติดตั้ง
เตรียมขนาดรูที่เหมาะสมสำหรับติดตั้งหัววัด ไว้บนวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้าประเภท Bakelite หรือพลาสติกชนิดอื่นๆ
2. ติดตั้งปลอกของหัววัด
ดันปลอกของหัววัด (Receptacle) เข้าในรูที่เตรียมไว้จนสุด โดยหากรูที่ใช้ติดตั้งหลวมเกินไป ก็ให้ใช้สารยึดติดที่เหมาะสม เช่น Loctite เพื่อยึดให้แน่น
3. เชื่อมต่อสายไฟ
เชื่อมต่อสายไฟเข้าที่ปลอกของหัววัด โดยสามารถเชื่อมได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะส่วนปลายของ RECEPTACLE เช่น
- ชนิดพันด้วยสายไฟ (Wire wrap type)
- ชนิดเชื่อมด้วยการบัดกรี (Solder type)
- เชื่อมด้วยการบัดกรีและบีบอัด (Solder and crimp type)
- แบบติดตั้งด้วยเทอร์มินอล (Terminal type)
4. ติดตั้งหัววัด (CONTACT PROBE) เข้ากับปลอก (RECEPTACLE)
ใส่หัววัดเข้าสู่ปลอกที่เตรียมไว้ และกดเข้าตามแนวแกนอย่างระมัดระวัง
5. ตรวจสอบการเชื่อมต่อ
ตรวจสอบการเชื่อมต่อของหัววัดและหน้าสัมผัส ควรให้หัววัดสัมผัสในทิศทางตามแนวแกนของหัววัด เพื่อให้ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่หัววัด
จบกันไปแล้วนะครับสำหรับการแนะนำ วิธีการติดตั้ง และปัจจัยในการเลือกใช้หัววัด (Contact probe) อย่างเหมาะสมในการใช้งาน จะเห็นได้ว่าการเลือกและติดตั้งนั้นไม่ได้ยากเลย และหากทำอย่างถูกต้องแล้ว นอกจากจะช่วยให้ทำงานได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ได้อีกด้วย หวังว่าผู้อ่านได้รับประโยชน์กันนะครับ รู้ครบจบที่นี่ MiSUMi Technical