งานซ่อมบำรุง คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ?
สารบัญ
เชื่อว่าในปัจจุบัน คำว่า “การซ่อมบำรุง” เป็นหลายสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมต้องเคยได้ยินกันมาบ้าง เพราะการซ่อมบำรุงถือเป็นอีกกระบวนการสำคัญซึ่งส่งผลต่อกระบวนการผลิต ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายชนิดและรูปแบบ ในบทความนี้เรามาดูตัวอย่างประเภทงานซ่อมบำรุงแบบต่างๆ กันครับว่ามีอะไรบ้าง
การซ่อมบำรุง คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ?
“การซ่อมบำรุง” คือ กิจกรรมในการดูแลรักษาสภาพเครื่องจักร/เครื่องมือ/อุปกรณ์การทำงานต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมสำหรับการใช้งานตลอดเวลา หากขาดการซ่อมบำรุงที่ดี ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร เสี่ยงต่อเครื่องจักรหยุดทำงาน นำไปสู่ปัญหาการ Breakdown ซึ่งจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการผลิตของโรงงาน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะเกิดขึ้นทั้งค่าซ่อม ค่าเสียเวลา-เสียโอกาสและอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้น การซ่อมบำรุง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกโรงงานควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
การซ่อมบำรุงนั้นสามารถทำได้กับเครื่องจักร/อุปกรณ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ภายในโรงงาน ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น รถยนต์ โดยมีจุดประสงค์ให้อุปกรณ์นั้นสามารถทำงานได้อย่างดีและมีอายุการใช้งานยาวนานที่สุด
ประเภทของงานซ่อมบำรุง มีแบบไหนบ้าง?
งานซ่อมบำรุงนั้น คนส่วนมากเข้าใจว่ามันคือการที่ “เสียแล้วซ่อม” แต่จริงๆแล้วการซ่อมบำรุงนั้นมีหลากหลายระดับ ทั้งการซ่อมบำรุงเพื่อแก้ไขเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ชำรุด และการซ่อมบำรุงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชำรุด โดยสามารถแยกออกได้ขั้นต้นดังนี้
1.การซ่อมบำรุงเชิงแก้ไข (Corrective Maintenance)
“การซ่อมบำรุงเชิงแก้ไข” หรือชื่อที่คนสมัยก่อนนิยมเรียกว่า “การซ่อมบำรุงแบบ Break down (Breakdown Maintenance)” ถือเป็นกระบวนการซ่อมบำรุงที่พื้นฐานและมีมาอย่างยาวนานที่สุด ซึ่งกระบวนการซ่อมบำรุงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเครื่องจักร/ชิ้นส่วนอุปกรณ์ใช้งานเกิดการชำรุดเสียหาย จนไม่สามารถนำมาใช้งานได้แล้ว กล่าวคือ “เมื่อพังจึงซ่อม”
แม้อาจจะฟังดูขาดหลักการในการดูแลรักษาที่ดี แต่การซ่อมบำรุงเชิงแก้ไขนี้ ก็ยังคงถูกใช้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยมักจะใช้กับเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่ไม่ค่อยมีนัยสำคัญในการทำงาน เช่น โคมไฟแสงสว่าง, ก๊อกน้ำภายในห้องน้ำ, พัดลมระบายอากาศ เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์ข้างต้นที่ยกตัวอย่าง หากชำรุดจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการผลิตต่ำ/ไม่มีผลกระทบใดๆ อีกทั้งที่มีราคาถูก หาซื้อได้ทั่วไป จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดทำเป็นแผนงานซ่อมบำรุง แต่หากนำวิธีการนี้มาใช้กับเครื่องจักรผลิต แน่นอนว่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีแน่นอน
โคมไฟเพดาน ถืออุปกรณ์ที่ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อกระบวนการผลิต จึงไม่ค่อยมีการทำ PM มักถูกใช้งานจนกว่าจะชำรุด แล้วจึงเปลี่ยนใหม่
2.การบำรุงรักษาเชิงป้อง (Preventive Maintenance)
“การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน” หรือที่ถูกเรียกสั้นๆว่า การ PM เป็นกิจกรรมการเข้าซ่อมแซม/เปลี่ยนชิ้นส่วนของเครื่องจักรตามกำหนดการก่อนสิ้นสภาพการใช้งาน เพื่อป้องกันเครื่องจักรไม่ให้เกิดการชำรุดและนำไปสู่การเกิด Breakdown ขึ้น ซึ่งการทำการบำรุงรักษาเชิงป้องกันนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่นการตรวจด้วยสายตา, การขันแน่น, การหล่อลื่น/ทำความสะอาดชิ้นส่วนต่างๆ ที่สามารถทำได้ตั้งแต่รายวัน/รายสัปดาห์ ไปจนถึงการเปลี่ยนอะไหล่ และการ Overhaul ประจำปี
การบำรุงรักษาเชิงป้องกันมีด้วยกันกี่ประเภท ?
เมื่อพูดถึงการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน จะสามารถแยกย่อยได้เป็น 2 ประเภทหลัก ดังต่อไปนี้
1.การบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามระยะเวลา (Time-based Preventive Maintenance)
การบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามระยะเวลา (Time-based Preventive Maintenance) เป็นกระบวนการ PM ที่เราสามารถพบเห็นได้เยอะที่สุด โดยการทำการบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามระยะเวลานี้ สามารถหาข้อมูลอ้างอิงได้จากคู่มือของเครื่องจักร เช่น การล้างทำความสะอาดชุดกรองต้องทำทุก1สัปดาห์, ควรมีการอัดจาระบีช่วงล่างของรถยนต์ทุกๆ 6 เดือน เป็นต้น
ช่างทำการอัดจาระบีชิ้นส่วนของรถดันดินตามช่วงเวลาที่มีกำหนดในคู่มือ ถือเป็นการ Time-Based PM รูปแบบหนึ่ง
ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการสึกและยืดอายุการใช้งานของชิ้นส่วนรถได้
2.การบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามปริมาณการใช้งาน (Usage-based Preventive Maintenance)
การบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามปริมาณการใช้งาน (Usage-based Preventive Maintenance) กล่าวคือ เนื่องด้วยอุปกรณ์บางชนิดมีการใช้งานที่หนักเบาแตกต่างกัน ในบางครั้งเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่มีใช้งานหนัก อาจต้องมีการซ่อมบำรุงก่อนแผนงานบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามระยะเวลา หรือซ่อมก่อนเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่มีใช้งานน้อยกว่า
ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถยนต์ทุกระยะทาง 7,500 ก.ม. หากเจ้าของรถยนต์ใช้รถในการเดินทางบ่อยก็จะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเร็วกว่าอีกคนที่ไม่ค่อยได้ใช้รถ เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นอีกด้วย
การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถยนต์ ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของ Usage-based PM เนื่องจากหากผู้ใช้งานรถยนต์ต้องขับขี่รถบ่อยๆ ก็จะทำให้น้ำมันเกิดความข้นหนืดและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น จึงทำให้รอบการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันถี่ขึ้นเช่นกัน
3.การบำรุงรักษาตามสภาพ (Condition Based Maintenance)
“การบำรุงรักษาตามสภาพ” เป็นขั้นพัฒนาของการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน แตกต่างจากวิธีการเดิมที่เน้นการกำหนดอายุการใช้งานของเครื่องจักร/อุปกรณ์แล้วเข้าเปลี่ยนตามระยะเวลา การบำรุงรักษาตามสภาพจะเน้นการซ่อมแซมเครื่องจักร/อุปกรณ์ตามลักษณะสภาพที่ชิ้นส่วนนั้นแสดงออกมา กล่าวคือ เมื่อเริ่มใช้งานครั้งแรกเครื่องจักรจะมีความสมบูรณ์พร้อม แต่เมื่อใช้งานไประยะเวลาหนึ่ง ชิ้นส่วนอุปกรณ์จะเริ่มเกิดการสึก/ชำรุด และจะเริ่มแสดงสัญญาณบางอย่างออกมา เช่น ค่าการสั่นสะเทือนผิดปกติ, อุณหภูมิสูงขึ้น, มีเสียงดังแปลกๆ, มีกลิ่นไหม้, มีคราบการรั่วซึม เป็นต้น โดยหากผู้ใช้งานหรือช่างสามารถตรวจพบสัญญาณที่แสดงออกมาเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยในการวางแผนซ่อมบำรุงและทำการเข้าแก้ไขซ่อมแซมก่อนที่เครื่องจักรอุปกรณ์จะชำรุดเสียหายได้ ซึ่งจะเป็นการดึงประสิทธิภาพของชิ้นส่วน/อุปกรณ์แต่ละชิ้นจนถึงขีดสุดก่อนทำการเปลี่ยนใหม่ ทำให้เกิดความคุ้มทุนสูงที่สุด
เครื่อง Thermal Scan เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิซึ่งถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในการทำ Condition Based Maintenance โดยในรูปจะเป็นการตรวจวัดค่าความร้อน Globe Valve ของท่อสตรีม โดยหากชิ้นส่วน/อุปกรณ์เกิดค่าความร้อนสูงผิดปกติ อาจเป็นไปได้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวเริ่มเกิดการชำรุดแล้ว ทำให้ทีมช่างสามารถคาดการณ์และวางแผนงานซ่อมบำรุงได้ก่อนเกิด Breakdown อีกทั้งปัจจุบันนี้ ก็มีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆมาช่วยในการตรวจจับสัญญาณผิดปกติมากขึ้น เช่น Sensor แบบต่างๆซึ่งสามารถตรวจวัดค่าที่มีความละเอียดอ่อนซึ่งมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ ทำให้การบำรุงรักษาตามสภาพถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งโดยทั่วไป การบำรุงรักษาในระดับนี้จะมีชื่อเรียกว่า “การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance)”
Vibration Sensor เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการ Monitor ค่าการสั่งสะเทือนที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักร เช่นในรูปเป็นการตรวจวัดค่าการสั่นสะเทือนของเพลา หากค่าการสั่นสะเทือนมีการผิดแปลกไปจากปกติ อาจสันนิษฐานได้ว่า เครื่องจักรเกิดการปัญหาบางอย่าง เช่น Miss Alignment หรือ เพลาสึก เป็นต้น
4.การบำรุงรักษาเชิงรุก (Proactive Maintenance)
“การบำรุงรักษาเชิงรุก” ถือเป็นขั้นสูงของการซ่อมบำรุงรักษาของหน่วยงานซ่อมบำรุง โดยการบำรุงรักษาเชิงรุกจะเน้นการวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาการชำรุดนั้น เพื่อปรับปรุงแผนการดำเนินงานซ่อมบำรุง และสรรหาวิธี/แนวทางในการบำรุงรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาการชำรุดเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งสิ่งนี้ถูกเรียกว่า “การป้องกันการบำรุงรักษา (Maintenance Prevention)” เช่น การใช้อุปกรณ์กันน้ำในไลน์การผลิตที่ต้องมีการล้างทำความสะอาดบ่อยๆ, การใช้ท่อน้ำสเตนเลสแทนการใช้ท่อเหล็กเพื่อป้องกันการผุกร่อน/การเกิดสนิม เป็นต้น
ชุดอัดจาระบีอัตโนมัติ เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ช่วยในเรื่องของการ Maintenance Prevention โดยจะอัดจาระบีไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องจักรโดยไม่ต้องใช้ช่าง/คนงานในการอัดจาระบี เพื่อป้องกันการสึก/ชำรุดของชิ้นส่วนจากการเสียดสี เช่น Bearing เป็นต้น เหมาะกับเครื่องจักรที่มีการใช้งานอยู่ตลอดเวลาและเข้าทำ PM ได้ยากเป็นอย่างยิ่ง
Total Productive Maintenance คือ อะไร
แม้การซ่อมบำรุงจะถูกมองว่า เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานซ่อมบำรุง แต่หากต้องการบริษัท/โรงงานต้องการผลผลิตที่มีความคุ้มค่าและให้ผลกำไรสูงสุด เครื่องจักรที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจึงถือเป็นกุญแจสำคัญ ทำให้ในปัจจุบัน เกิดเทคนิคที่เรียกว่า “Total Productive Maintenance หรือ TPM” ที่ไม่เพียงแค่มุ่งเน้นให้มีการซ่อมบำรุงที่มีคุณภาพสูง แต่ยังมุ่งเน้นกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งกับการซ่อมและการใช้งานเครื่องจักร/อุปกรณ์ ไปจนถึงการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่สูงที่สุดและมีค่าใช้จ่ายต้นทุนต่ำที่สุด โดยเราจะมาพูดถึงหลักการนี้ในภายหลัง
ในการทำ TPM นั้นอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่ายในโรงงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายซ่อมบำรุง ฝ่ายผลิตและหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ โดยมุ่งหวังให้เกิดการซ่อมบำรุงที่มีประสิทธิภาพสูง ทันท่วงที มีการเสียเวลาและต้นทุนต่ำสุด)
จบไปแล้วนะครับสำหรับบทความ งานซ่อมบำรุงคืออะไร ทำไมจึงสำคัญ? จะเห็นได้ว่า การซ่อมบำรุงไม่ใช่สิ่งที่จะถูกมองข้ามไปได้ หากบริษัท/โรงงานต้องการการผลิตที่ต่อเนื่องและมีคุณภาพ ดังนั้นหากโรงงานของท่านยังคงใช้การซ่อมบำรุงแบบ Corrective Maintenance อยู่ ก็ถึงเวลาปรับเปลี่ยนได้แล้ว เพราะนอกจากจะไม่ต้องปวดหัวกับการปัญหา Breakdown เครื่องจักรที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังทำให้หน่วยงานจัดสรรตารางเวลาในการทำงานได้ง่าย ไปจนถึงใช้ในการวางแผนงบประมาณและช่วยปูรากฐานสำหรับการยกระดับขึ้นไปสู่การซ่อมบำรุงในระดับที่สูงขึ้นไป “การบำรุงรักษาเชิงรุก” หรือ “TPM” อย่างได้อีกด้วย