ระบบเราใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) ประเภทไหนดีนะ?
สารบัญ
เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) เป็นอุปกรณ์สำคัญในระบบไฟฟ้า มีหน้าที่ป้องกันความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าและเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน โดยอาศัยหลักการทางไฟฟ้าและกลไกเฉพาะตัวในแต่ละประเภทเพื่อป้องกันการใช้กระแสไฟฟ้าเกิน (Overcurrent) กระแสไฟฟ้ารั่ว (Leakage Current) และไฟฟ้าลัดวงจร (Short Circuit) แต่เนื่องจากประเภทของเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) นั้นมีหลากหลาย เช่น MCB, MCCB, RCCB และ ELCB การเข้าใจประเภทและการเลือกใช้งานเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถออกแบบระบบไฟฟ้าที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
ประเภทของเซอร์กิตเบรกเกอร์
1. MCB (Miniature Circuit Breaker)
MCB หรือเบรกเกอร์ลูกย่อย เป็นเบรกเกอร์ขนาดเล็กที่ใช้ในระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำ มีหน้าที่ป้องกันกระแสเกินและไฟฟ้าลัดวงจร ติดตั้งง่าย ราคาถูก เหมาะสำหรับการใช้งานในบ้านพักอาศัยหรืออาคารขนาดเล็กที่มีกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 100 แอมแปร์ โดยอาศัยกลไกการปลดวงจรในรูปแบบความร้อน (thermal) และแม่เหล็ก (magnetic) MCB มีจำนวนโพล (Pole) ตั้งแต่ 1, 2, 3 และ 4 โพล เพื่อรองรับระบบไฟฟ้าแบบ 1 เฟสและ 3 เฟส
2. MCCB (Molded Case Circuit Breaker)
MCCB มีหลักการทำงานที่คล้ายกับ MCB แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า สามารถรองรับกระแสไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 100 ถึง 2,300 แอมแปร์ มักใช้ในอาคารขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีความสามารถในการปรับตั้งค่ากระแสในการตัดวงจรได้ และสามารถทนกระแสลัดวงจรได้สูงกว่า MCB โดย MCCB มักถูกติดตั้งในตู้ไฟฟ้า (Local panel) เพื่อควบคุมและป้องกันระบบไฟฟ้าในส่วนต่าง ๆ ของอาคารหรือโรงงาน

3. RCCB (Residual Current Circuit Breaker)
RCCB เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันไฟฟ้ารั่วหรือไฟดูด โดยตรวจจับความแตกต่างของกระแสไฟฟ้าที่ไหลเข้าและออกจากวงจร (Residual Current) โดย Toroidal Transformer ที่อยู่ภายใน หากกระแสในสายไฟเข้าและออกไม่สมดุล แสดงว่ากระแสบางส่วนได้รั่วออกไป (เช่น ไฟดูดหรือไฟฟ้ารั่ว) RCCB จะตัดวงจรทันที อย่างไรก็ตาม RCCB ไม่สามารถตัดกระแสลัดวงจรได้ ดังนั้นจึงมักใช้ร่วมกับ MCB หรือ MCCB เพื่อให้การป้องกันที่ครบถ้วน
4. ELCB (Earth Leakage Circuit Breaker)
ELCB เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันไฟฟ้ารั่วลงดิน โดยตรวจจับแรงดันที่เกิดขึ้นระหว่างตัวนำและพื้นดิน หากพบว่าแรงดันนี้เกินค่าที่กำหนด แสดงว่ามีไฟรั่วเกิดขึ้น ELCB จะใช้กลไกรีเลย์ (Relay Mechanism) ภายในตัดวงจรเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟดูด
เปรียบเทียบกลไกการทำงานของเซอร์กิตเบรกเกอร์แต่ละประเภท
ปัจจัยการเลือกเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่เหมาะสม
- พิจารณาประเภทของโหลด: เลือกเบรกเกอร์ที่เหมาะสมกับประเภทของโหลดที่ใช้งาน เช่น โหลดแสงสว่าง, โหลดมอเตอร์ หรือโหลดเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ
- คำนวณกระแสไฟฟ้า: ตรวจสอบกระแสไฟฟ้าสูงสุดที่โหลดจะใช้ เพื่อเลือกเบรกเกอร์ที่มีพิกัดกระแส (Ampere Rating) เหมาะสม
- พิจารณาระบบไฟฟ้า: ตรวจสอบว่าเป็นระบบไฟฟ้า 1 เฟสหรือ 3 เฟส เพื่อเลือกจำนวนโพลของเบรกเกอร์ที่เหมาะสม
- พิจารณาค่ากระแสลัดวงจรสูงสุด (Icu): เลือกกระแสลัดวงจรสูงสุดที่เบรกเกอร์สามารถทนได้ โดยไม่เกิดความเสียหาย
- พิจารณาคุณสมบัติพิเศษ: หากต้องการป้องกันไฟฟ้ารั่วหรือไฟดูด ควรเลือกใช้ RCCB ที่มีคุณสมบัติป้องกันทั้งกระแสเกินและไฟฟ้ารั่ว
จะเห็นได้ว่า ในการเลือกเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่เหมาะสม ไม่เพียงแต่ต้องพิจารณาถึงประเภทและคุณสมบัติของเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) เช่น MCB, MCCB, RCCB และ ELCB แต่ยังต้องเข้าใจถึงการทำงานและข้อจำกัดของแต่ละประเภท เพื่อให้การใช้งานในระบบไฟฟ้ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด การเลือกใช้งานอย่างถูกต้องไม่เพียงช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น แต่ยังช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าและลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงอีกด้วย ความรู้และความเข้าใจในพื้นฐานเหล่านี้จึงถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวิศวกรไฟฟ้ามือใหม่ทุกคน หากเพื่อนๆสนใจ สามารถเลือกชมสินค้าได้ที่ MITSUBISHI Circuit Breakers (Low Capacity) ในสัปดาห์หน้าเราจะมีบทความอะไรมานำเสนอ เชิญมาติดตามไปพร้อมๆกันนะครับ รู้ครบจบที่นี่ MiSUMi Technical