การประยุกต์ใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ Breakdown แบบต่างๆ
สารบัญ
หลังจากที่เพื่อนๆ ได้ศึกษาเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหาแบบต่างๆไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น 5 Whys Analysis, แผนภูมิก้างปลา (Fishbone Diagram), แผนภูมิพาเรโต้ (Parato Chart) และ FMEA (Failure Mode and Effects Analysis) ในบทความนี้เราจะนำเครื่องมือเหล่านี้มาประยุกต์ใช้งานกันครับ
Recap เครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหาการ Breakdown Maintenance
ก่อนจะไปดูตัวอย่างการเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหาการ Breakdown เรามาดูข้อดีและข้อเสียของเครื่องมือเหล่านี้โดยสรุปกันก่อนครับ
เครื่องมือ | ข้อดี | ข้อเสีย |
5 Whys Analysis | เครื่องมือที่เข้าใจง่าย | จำเป็นต้องวิเคราะห์บนพื้นฐานของสิ่งที่เห็นหรือของข้อมูลที่มี เพราะอาจจะเกิดการหลุดประเด็ด |
Fishbone Diagram | ทำให้เห็นภาพกว้างของปัญหาได้ดี | ไม่เหมาะจะใช้เจาะลึกประเด็นที่สำคัญ |
Pareto Chart | ใช้เลือกปัญหาเพื่อนำมาแก้ไขได้ดี | เป็นเพียงการแก้ปัญหาตรงหน้า ไม่ได้เป็นการเตรียมการสำหรับปัญหาในครั้งถัดไป |
FMEA | ครอบคลุมและเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาโดยส่วนมาก | จัดทำได้ยาก และใช้เวลานาน |
แต่เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว เครื่องมือไหนควรใช้ตอนไหนล่ะ? นั่นคงเป็นคำถามสำคัญสำหรับเพื่อนๆ ที่เป็นมือใหม่ในสายงานซ่อมบำรุง คำตอบของผมคือ แนะนำให้ใช้ผสมผสานร่วมกัน หรือใช้ทุกอันเลยครับ เชื่อว่าพอบอกให้ใช้ทุกอันเพื่อนๆ หลายคนคงจะทักท้วงกันแล้วว่า “ไม่มีเวลามาทำขนาดนั้นหรอก” ใจเย็นๆก่อนนะครับ เพราะถ้าเพื่อนๆ สังเกตให้ดีๆ เพื่อนๆ จะเห็นได้ว่าเครื่องมือหลายอันมีลักษณะที่ทับซ้อนกันอยู่ ดังนั้นเพื่อนๆ เพียงแค่นำจุดทับซ้อนเหล่านั้นมาผสมกันก็เป็นอันเสร็จ
4 ขั้นตอนในการสร้างเครื่องมือวิเคราะห์ปัญหาการ Breakdown แบบผสม
ในการสร้างเครื่องมือวิเคราะห์ปัญหาการ Breakdown Maintenance แบบผสมนั้น จะเริ่มจากขั้นตอนต่อไปนี้
1. นำข้อมูลปัญหาการเกิด Breakdown แบบต่างๆ ของเครื่องจักร มาทำการวิเคราะห์ด้วย Pareto Chart เพื่อหาเครื่องจักรที่ต้องทำการซ่อมก่อน
2. เมื่อกำหนดเครื่องจักรได้แล้วให้ทำการ เขียน Fishbone Diagram เพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาก่อนว่ามีสาเหตุอะไรบ้าง โดยหากปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายประการเพื่อนๆ สามารถใช้ Pareto Chart ซ้ำในขั้นตอนนี้อีกครั้งเพื่อเลือกเอาปัญหาที่เป็น Critical ขึ้นมาทำก่อนก็ได้ ตัวอย่างเช่น ปัญหามอเตอร์ช็อตเพราะน้ำเข้า
3. ในก้างปลาย่อยๆของ Fishbone Diagram ก็ให้ใช้หลัก 5 Whys แทนเพราะจะทำให้เพื่อเพื่อนๆ สามารถวิเคราะห์หาต้นต่อของปัญหาที่แท้จริงได้ละเอียดกว่า เมื่อเจอสาเหตุของปัญหาแล้วก็ให้ทำการแก้ไข
4. ภายหลังการแก้ไขแล้ว ให้นำเอาสาเหตุของปัญหาเหล่านั้นมาเขียนเป็น FMEA เพื่อที่หากเกิดปัญหาครั้งต่อไป ทีมงานจะสามารถระบุรากของปัญหาได้ง่ายขึ้น เพื่อให้สามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุดที่สุด
เพื่อนๆจะเห็นได้ว่าการนำเครื่องมือวิเคราะห์เหล่านี้มาประยุกต์ใช้งานเข้าด้วยกันไม่ใช่เรื่องยากเลย อีกทั้งการนำมาใช้งานร่วมกันก็ทำให้เกิดข้อดีต่างๆมากมาย เราจึงสามารถหาสาเหตุของปัญหาต่างๆ และเลือกแก้ไขได้อย่างตรงจุด และที่สำคัญคือเพื่อนๆ ไม่จำเป็นต้องทำครบทุกอันก็ได้ เพียงแค่เลือกเครื่องมือให้เหมาะสมกับเวลา เช่น หากเพื่อนๆ ต้องการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรหน้างาน เราก็คงจะไม่มานั่งพล็อตกราฟ Pareto Chart ในขั้นตอนที่ 1 แต่ให้ทำการวิเคราะห์ด้วย Fishbone Diagram กับ 5 Whys Analysis ในขั้นตอนที่ 2 และ 3 เลยก็ได้ หรือหากเพื่อนๆ สามารถสะสางงาน อื่นๆ ได้ครบแล้ว ก็สามารถใช้เวลาว่างมาทำ FMEA โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงานการเสียเวลาเก่าๆ และแคตตาล็อกสินค้า เพื่อใช้วิเคราะห์ล่วงหน้าก็ได้
เพียงเท่านี้ปัญหาการเสียเวลาที่เคยติดตัวแดงของเพื่อนๆ ก็จะลดลง และหากสามารถใช้หลักการเหล่านี้ได้กับเครื่องจักรทุกตัวในไลน์การผลิต รวมถึงมีการจัดการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน (Preventive maintenance) ที่ดีแล้ว…รับรองเลยว่า ปัญหา Breakdown Maintenance แทบจะหายไปจากชีวิตการทำงานเพื่อนเลยล่ะครับ
จบไปแล้วนะครับ สำหรับบทความ “การประยุกต์ใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ Breakdown Maintenance แบบต่างๆ” เพื่อนๆ คงจะได้เห็นไอเดียการนำเครื่องมือหลายๆ อย่างที่เราเคยกล่าวไปก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น 5 Whys Analysis, แผนภูมิก้างปลา (Fishbone Diagram), แผนภูมิพาเรโต้ (Parato Chart) และ FMEA (Failure Mode and Effects Analysis) มาประยุกต์ใช้กันอย่างครบถ้วน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ทุกคนนะครับ แล้วพบกันใหม่กับบทความที่น่าสนใจในสัปดาห์หน้าครับ