เคล็ดลับ การเขียนแผนงานซ่อมบำรุง อย่างง่าย ครบ จบในที่เดียว
สารบัญ
จากบทความ สร้างแผนบำรุงรักษาเชิงป้องกันสำหรับเครื่องจักร ทำอย่างไร ? เพื่อนๆ ได้ทราบถึงขั้นตอนการเตรียม ข้อมูลสำหรับการจัดทำระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) หรือ “ระบบ PM” กันไปแล้ว ทั้งในหัวข้อที่ 1. การรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของเครื่องจักรในไลน์การผลิต/โรงงาน และ หัวข้อที่ 2.วิธีการในการกำหนด Rank เครื่องจักร ว่ามีความสำคัญอย่างไร และจะต้องทำขั้นตอนใดบ้าง วันนี้เราจะนำข้อมูลที่ได้รวบรวมมาก่อนหน้านี้ มาใช้ในการจัดทำระบบงานซ่อมบำรุงในหัวข้อที่ 3 ถึง 5 ซึ่งเป็นส่วนของการเขียนแผนงานซ่อมบำรุงกันครับ
3. กำหนดรายการที่ต้องทำในการซ่อมบำรุง
เมื่อเพื่อนๆ ทราบถึงเครื่องจักรตัวไหน คือ เครื่องจักรที่จะต้องให้ความสำคัญในการดูแลเป็นพิเศษแล้ว สิ่งที่จะต้องทำอย่างถัดไปนั้น ก็คือ การระบุงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงเครื่องจักรนั้น ซึ่งวัตถุประสงค์หลักในขั้นตอนนี้ คือ การเตรียมความพร้อมให้การซ่อมแต่ละขั้นตอนเกิดความรวดเร็วและได้ตามมาตรฐาน ตัวอย่างเช่น หากทีมงานต้องการเปลี่ยนลวดฮีตเตอร์ของเครื่องจักรซีลถุง ในการกำหนดแผนรายการซ่อมบำรุงนี้ ไม่เพียงแค่ระบุว่า ใช้ลวดขนาดเท่าไหร่และยี่ห้ออะไร แต่ควรระบุรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้การวางแผนเป็นไปอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ใช้ทีมงานกี่คน, ใช้อุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ และต้องไม่ลืมตรวจเช็คจำนวนอะไหล่สำรองด้วยว่าเหลือเพียงพอหรือไม่สำหรับการซ่อมในครั้งถัดไป ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถสะท้อนถึงต้นทุนในการซ่อมบำรุงของเครื่องจักรเครื่องนั้นได้เป็นอย่างดี
โดยส่วนมาก รายการซ่อมบำรุงเหล่านี้จะถูกรวบรวมไว้ใน “คู่มือการใช้งานเครื่องจักร” ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเช็คโปรแกรมต่างๆ ตามระยะเวลาการใช้งานเครื่อง , การเปลี่ยนอะไหล่, การทำ Major-Minor Overhaul, การสอบเทียบเครื่องมือ/อุปกรณ์ ฯลฯ
4. กำหนดความถี่ในการซ่อมบำรุง
หลังจากทราบหัวข้อที่จะต้องซ่อมแล้ว สิ่งสำคัญอย่างถัดไปที่จะต้องถูกระบุในการจัดทำระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ก็คือ การนำหัวข้อรายการซ่อมบำรุงเหล่านั้นมากำหนดเวลาและจัดทำเป็น “แผนงานซ่อมบำรุงเครื่องจักร” หรือ “ปฏิทินปฏิบัติงาน” เพื่อใช้ในการแจกจ่ายงานให้กับทีมงาน
ซึ่งความถี่ในการซ่อมเหล่านี้ โดยส่วนมากในก็จะถูกระบุไว้ใน “คู่มือการใช้งานเครื่องจักร” ซึ่งจะมีทั้งบอกแบบเป็นจำนวนวันและบอกเป็นชั่วโมงการใช้งาน เช่น ชิ้นส่วนของเครื่องจักรบางชนิดมีระยะเวลาในการ 1000 ช.ม. หากโรงงานทำงานวันละ 8 ช.ม. สัปดาห์ละ 5 วัน ก็จะทำให้มีอายุการใช้งานราวๆ 6 เดือน ทำให้วิศวกรสามารถพิจารณาวางแผนเปลี่ยนชิ้นส่วนดังกล่าวก่อนที่จะครบกำหนดได้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
จากรูป จะเห็นได้ว่า มีบางงานซ้อนกันในวันเดียว ซึ่งการจัดทำ “แผนงานซ่อมบำรุงเครื่องจักร” นอกจากการช่วยให้วิศวกร/หัวหน้างานสามารถวางแผนและจัดสรรทีมงานไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ระบบนี้ยังมีประโยชน์เพิ่มเติมในด้านของการวางแผนการจัดส่งอะไหล่ที่ไม่ได้เก็บไว้ในสต็อค ทำให้สามารถเรียกใช้งานอะไหล่ได้ในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และปัญหาที่เกิดจากการสึกหรอเมื่อเก็บไว้เป็นเวลานาน
5. จัดทำรายงานการตรวจเช็ค/รายงานซ่อมบำรุง เพื่อใช้สำหรับตรวจเช็คงานซ่อมบำรุง
ในหลายๆ ครั้ง ในสมัยที่ผมเพิ่งเข้าทำงานใหม่ๆ ได้พบกับปัญหาว่า แผนการซ่อมบำรุงไม่ดำเนินไปตามปฏิทินปฏิบัติงาน เนื่องจากช่างไม่ได้ตรวจเช็ค/ซ่อมแซมอุปกรณ์บางอย่างด้วยเหตุผลของความไม่รู้/ลืม ดังนั้นเอกสารอีกตัวที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้แผนการบำรุงรักษาเชิงป้องกันเป็นไปตามกำหนดการ นั่นคือ “รายงานการตรวจเช็ค/รายงานซ่อมบำรุง” หรือ “Checklist” นั่นเอง ซึ่งเป็นเอกสารที่จะถูกเขียนขึ้นภายหลังการซ่อมเสร็จสิ้น จะใช้เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยต่างๆ ของแผนงาน
Checklist นี้ไม่เพียงแค่ช่วยป้องกันช่างหน้างานที่เหน็ดเหนื่อยกับงานจนลืมกระบวนการบางอย่างในแผนงานซ่อมบำรุง แต่ยังจะถูกนำมาบันทึกทำเป็นประวัติเครื่องจักรซึ่ง จะมีส่วนช่วยให้วิศวกร/หัวหน้างานสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น งานตรวจวัดความสั่นสะเทือนของมอเตอร์สายพาน ในตอนต้นเดือน ทีมช่างได้ทำการวัดค่าการสั่นสะเทือนของมอเตอร์และได้ผลลัพธ์ค่าหนึ่ง ต่อมาในช่วงกลางเดือน ค่าการสั่นสะเทือนของมอเตอร์ตัวนั้นกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้วิศวกร/หัวหน้าช่างสามารถคาดการณ์ได้ว่า มอเตอร์ตัวดังกล่าวอาจจะเกิดความผิดปกติบางอย่าง จากข้อมูลชุดนี้ทำให้สามารถวางแผนและจัดเตรียมทีมงานเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดในครั้งถัดดไปได้อย่างทันถ่วงที และและดำเนินการซ่อมแซมอย่างเหมาะสมก่อนที่จะเกิดความเสียหาย (Breakdown)
“รายงานการตรวจเช็ค” สามารถอ้างอิงจากใน “คู่มือการใช้งานเครื่องจักร” มาเขียนก็ได้ แต่ทางที่ดีที่สุด คือการรวมทีมช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักรนั้นๆ มาช่วยกันจัดทำ เพราะในหลายๆ ครั้ง ประสบการณ์ของช่างหน้างานก็เป็นสิ่งที่ช่วยในการระบุปัญหาต่างๆ และช่วยหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการซ่อมบำรุงได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าขั้นตอนในการเขียนแผนงานซ่อมบำรุงนี้ เป็นอีกขั้นตอนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการจัดทำระบบบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่ไม่เพียงทำให้ทีมงานซ่อมบำรุงทราบว่า จะมีแผนการดำเนินงานต่างๆ ในวันไหน แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งการจัดสรรกำลังคน, การเตรียมเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง, การจัดหาอะไหล่, วิธีการปฏิบัติงาน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีการรวบรวมข้อมูลที่ดีและเป็นระบบระเบียบตั้งแต่ขั้นตอนแรก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการกำหนด Rank เครื่องจักร เป็นต้นมา
ในบทความถัดไป เราจะมาพูดถึงหัวข้อที่ 6 ถึง 7 ซึ่งเป็นขั้นตอนในการดำเนินงานภายหลังการทำ PM เพื่อปรับปรุงแผนงานซ่อมบำรุงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กันครับ