ดอกต๊าปเกลียว (Taps) คืออะไร มีการใช้งานอย่างไร
กระบวนการต๊าปเกลียว (Tapping process) เป็นกระบวนการสร้างเกลียวให้กับชิ้นงาน โดยการตัดหรืออัดเกลียวบนเนื้อวัสดุ เกลียวที่ได้จากกระบวนการต๊าป มักจะนำไปใช้ในการยึดชิ้นงาน ด้วยการหมุนเกลียวให้เข้ากันพอดีและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการนี้ก็คือ “ดอกต๊าปเกลียว” นั่นเอง
ดอกต๊าปเกลียว (Taps) คืออะไร
ดอกต๊าปเกลียว คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างเกลียวให้กับชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็นเกลียว(M)metric ,เกลียว G ,เกลียว R และเกลียวชนิดอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเกลียวที่เกิดจากการต๊าปนั้นล้วนมีทั้งเกลียวใน และเกลียวนอก ในบทความนี้เราจะมาดูในส่วนของวิธีการต๊าปเกลียวด้านในกันครับ
กระบวนการต๊าปเกลียวภายใน มีกี่รูปแบบ ?
กระบวนการต๊าปเกลียวภายใน มีด้วยกัน 2 รูปแบบดังนี้
1.รูปแบบอัด (roll taps หรือ thread forming taps )
ดอกต๊าปเกลียวประเภทนี้จะเน้นการใช้แรงอัดเกลียวเข้าไปที่เนื้อวัสดุ ทำให้ไม่มีเศษวัสดุตกค้างอยู่ในร่องของเกลียว ดอกต๊าปเกลียวประเภทนี้เหมาะสำหรับใช้กับวัสดุที่ไม่แข็งมาก อลูมิเนียม หรือเหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ เป็นต้น ซึ่งดอกต๊าปเกลียวชนิดนี้จะเรียกกันว่า “ดอกต๊าปเกลียวรีด” เมื่อพิจารณาในส่วนของคุณสมบัติของวัสดุจะพบว่า เกรนของวัสดุถูกบีบอัดจนเกิดเป็นรูปร่างของเกลียว
2.รูปแบบตัดเฉือน (cutting taps)
ดอกต๊าปเกลียวประเภทนี้จะใช้วิธีการตัดเนื้อวัสดุทำให้เกิดเกลียวภายในรูของชิ้นงาน เมื่อพิจารณาในส่วนของคุณสมบัติของวัสดุจะพบว่า เกรนของวัสดุมีรูปร่างที่แตกต่างออกไปจากการใช้ดอกต๊าปเกลียวแบบรีด
ข้อควรระวังในการเจาะรูเพื่อใช้งาน ดอกต๊าปเกลียว
ในการเจาะรูเพื่อใช้งานดอกต๊าปเกลียวรีดหรือแบบตัดเฉือน ต้องพิจารณาขนาดของรูเจาะเพราะ ใช้รูเจาะที่มีขนาดไม่เท่ากัน ในการเจาะรูชิ้นงานเพื่อใช้งานดอกต๊าปเกลียวรีด ต้องเจาะรูให้มีขนาดใหญ่กว่า รูของดอกต๊าปแบบตัดเฉือนเล็กน้อย เพื่อให้เนื้อวัสดุเกิดการอัดตัวจนเกิดเป็นรูปร่างเกลียวในขณะต๊าป
ตัวอย่างเช่น ต้องการต๊าปเกลียว M3x 0.5
ชนิดของดอกต๊าป | ขนาดของรูเจาะที่แนะนำ |
---|---|
ดอกต๊าปเกลียวรีด (roll taps ) | 2.77 (สามารถดูได้จาก แคตตาล็อคแนะนำสินค้าของแต่ละผู้ผลิต) |
ดอกต๊าปเกลียวแบบตัดเฉือน (cutting taps) | 2.5 (สามารถดูวิธีการคำนวณได้ในหัวข้อถัด) |
วิธีการเรียกชื่อ ดอกต๊าปเกลียว รูปแบบตัดเฉือน
ในการเรียกชื่อดอกต๊าปเกลียวรูปแบบตัดนั้น เรามักจะพบเจอคำศัพท์อยู่ 3 คำที่นิยมใช้กันดังนี้
1.ดอกต๊าปเรียว (Taper) หมายถึง อุปกรณ์ต๊าปเกลียวชนิดนี้ จะมีปลายเกลียวที่เรียวอยู่ประมาณ 8-9 ฟัน
2.ดอกต๊าปตัวตาม (Plug) หมายถึง อุปกรณ์ต๊าปเกลียวชนิดนี้ จะมีปลายเกลียวที่เรียวอยู่ประมาณ 4-5 ฟันใช้เพื่อขยายขนาดของเกลียว ในบางครั้ง สามารถใช้ดอกต๊าปชนิดนี้แทน ดอกต๊าปเรียวได้
3.ดอกต๊าปตัวสุดท้าย (Bottom) หมายถึง อุปกรณ์ต๊าปเกลียวชนิดนี้ จะมีปลายเกลียวที่เรียวอยู่ประมาณ 1-2 ฟัน ใช้ทำเพื่อทำให้เกลียวมีฟันที่เสมอกัน
ข้อควรระวังในการใช้งานดอกต๊าป
เมื่อเพื่อนๆ ใช้ดอกต๊าปเรียว เป็นลำดับแรกจะเห็นได้ว่ามีฟันที่ 8-9 ฟันที่ถูกลมคมเกลียว ซึ่งนั้นทำให้เกลียวด้านในนั้นฟันไม่เต็มเกลียว ควรใช้ดอกต๊าปตัวตามและตัวสุดท้ายต๊าปเพิ่ม เพื่อให้เกลียวที่ได้นั้น มีฟันที่สมบูรณ์และได้ระยะเกลียวตามที่ต้องการ
วิธีการคำนวณขนาดรูเจาะที่ใช้งานกับดอกต๊าปเกลียวรูปแบบตัดเฉือน
เพื่อนๆ สามารถดูตัวอย่างการคำนวณขนาดรูเจาะ พร้อมกับตารางแสดงขนาดรูเจาะก่อนการต๊าปเกลียว เพิ่มเติมได้ที่นี่
ขนาดของรูเจาะ = ขนาดของดอกต๊าป – ระยะพิตซ์
ตัวอย่าง เช่น ต้องการต๊าปเกลียวขนาด M3 x 0.5 ต้องเจาะรูขนาดเท่าไหร่ ?
ขนาดของรูเจาะ = ขนาดของดอกต๊าป (3) – ระยะพิตซ์ (0.5)
ขนาดของรูเจาะ คือ 3 – 0.5 = 2.5 มิลลิเมตร
วิธีการใช้งานดอกต๊าปมือ
1. พิจารณารูที่จะทำการต๊าปเกลียวว่า เป็นรูตัน (blind hole) หรือ รูทะลุ (through hole)
2. เจาะรูตามขนาดที่ได้คำนวณไว้ตามสูตรข้างต้น ให้ได้ความลึกตามต้องการ
3. ยึดชิ้นงานให้แน่น และตรวจสอบอีกครั้งว่าชิ้นงานจะไม่หมุนตามหากทำการต๊าปเกลียว
4. เลือกใช้ดอกต๊าปให้เหมาะสมกับงาน ตัวอย่างเช่น รูตัน (blind hole) ควรเลือกดอกต๊าปที่มีการคายเศษออกทางด้านบน เพื่อไม่เศษวัสดุที่เกิดจากการต๊าปเกลียวอยู่ภายในของรูต๊าป
5. ติดดอกต๊าปเข้ากับอุปกรณ์จับยึดในการหมุน และใส่ดอกต๊าปลงไปในรูที่ต้องการการทำเกลียว พร้อมทั้งตรวจสอบอีกครั้งว่า ดอกต๊าปต้องตั้งฉากกับชิ้นงานเท่านั้น
6. หมุนดอกต๊าปตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกา สลับกันไปเพื่อทำการคายเศษวัสดุที่เกิดจากการต๊าปเกลียว
7. หยอดน้ำมันและทำความสะอาดรูเป็นระยะ
8. เปลี่ยนดอกต๊าปเป็นดอกที่ 2 และ 3 ตามลำดับและทำซ้ำตามขั้นตอน 5-7
9. ตรวจสอบความเรียบร้อย และทำความสะอาด
จบไปแล้วนะครับสำหรับกระบวนการต๊าปเกลียวและชนิดของ ดอกต๊าป หวังว่าเพื่อน ๆ สามารถที่จะเลือกใช้งานดอกต๊าปเกลียวให้เหมาะสมกับงานได้มากยิ่งขึ้น ในบทความถัดไปเรามาจะไปดูในส่วนของรูปร่างและลักษณะของดอกต๊าปกันครับ สุดท้ายนี้เรามีคำศัพท์ที่น่าสนใจมาฝากกันเหมือนเดิมครับ พบกันใหม่กับบทความที่น่าสนใจในสัปดาห์หน้า สวัสดีครับ
คำศัพท์ที่น่าสนใจ
No. | คำศัพท์ | คันจิ | ฮิรางานะ | คาตาคานะ | คำอ่าน |
---|---|---|---|---|---|
1 | ดอกต๊าป (Tap) | – | – | タップ | Tap-pu |