การวิเคราะห์ปัญหาด้วย แผนภูมิก้างปลา ทำอย่างไร
สารบัญ
ในบทความที่แล้ว เพื่อนๆ ได้เรียนรู้ถึงการวิเคราะห์ปัญหาด้วยเครื่องมือ 5 Whys Analysis กันไปแล้ว จะเห็นได้ว่ามันมีข้อดีในเรื่องของการเจาะลึกลงไปหารากของปัญหาได้มาก แต่หากเราต้องเผชิญกับเครื่องจักรที่มีมากกว่า 1 ปัญหาล่ะ…เราจะทำยังไงให้สามารถวิเคราะห์ได้อย่างครอบคลุม และสามารถเลือกปัญหามาทำการแก้ไขได้อย่างถูกต้อง โดยวันนี้เราจะมาพูดถึงเครื่องมือวิเคราะห์อีกตัว นั่นก็คือ แผนภูมิก้างปลา หรือ Fishbone Diagram ที่จะมาช่วยให้เพื่อนๆ สามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ครับ
แผนภูมิก้างปลา (Fishbone Diagram) คืออะไร
แผนภูมิก้างปลา หรือ Fishbone Diagram ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ปัญหา ที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรได้เป็นอย่างดี โดยแผนภูมิก้างปลานั้นมีจุดเด่นต่างจากเครื่องมืออันอื่นๆ ในเรื่องของการช่วยให้เราสามารถเห็นองค์ประกอบของปัญหาได้จากหลากหลายปัจจัยรอบด้าน
โดยปกติในเชิงการผลิตแล้ว เราจะมีการแตกแขนง แผนภูมิก้างปลา (Fishbone Diagram) ออกเป็น 6 ขาหลักๆ ประกอบด้วย
- Machine ปัญหาด้านเครื่องจักร – ซึ่งหมายความถึง ความพร้อมของเครื่องมือ/เครื่องจักรในการทำงาน
- Man ปัญหาด้านกำลังคน – ซึ่งอาจจะรวมทั้งเรื่องของจำนวนคนที่เหมาะสมกับงาน ไปจนถึงทักษะในการทำงาน
- Material ปัญหาด้านวัสดุ – ซึ่งวัสดุในที่นี้ หมายถึง วัสดุที่มีการป้อนเข้าไปในเครื่องจักรเพื่อให้เกิดออกมาเป็น ผลิตภัณฑ์ ไม่ได้หมายถึงอะไหล่หรืออุปกรณ์แต่อย่างใด
- Method ปัญหาด้านกระบวนการทำงาน – เช่น Process Flow ของไลน์การผลิต, ขั้นตอนในการเบิกอะไหล่
- Measurement ปัญหาด้านสอบเทียบวัด – เช่น มีการสอบเทียบเครื่องมือวัดอย่างเป็นประจำหรือไม่, เครื่องมือหรืออุปกรณ์มีความแม่นยำอยู่ในช่วงที่สามารถใช้งานได้หรือไม่
- Environment ปัญหาจากสภาพแวดล้อม – เช่น ความร้อนสูง/ความชื้นสูง, แสงสว่างน้อยเกินไป/มากเกินไป เป็นต้น
ตัวอย่างการวิเคราะห์ปัญหาด้วยการใช้ Fishbone Diagram หรือ 5M1E
เรามีตัวอย่างของกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาด้วยการใช้แผนภูมิก้างปลา (Fishbone Diagram) มาให้เพื่อนๆ ได้ดูกันครับ จะเห็นได้ว่า เราสามารถมองเห็นสาเหตุของปัญหาได้จากหลากหลายประเด็นมากขึ้น ซึ่งบางขาก็มีมากกว่า 1 สาเหตุ ในขณะที่บางขาอาจจะไม่มีก็ได้ ซึ่งด้วยลักษณะของการแยกเป็น 6 ขานี้ ทำให้แผนภูมิก้างปลามีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “การวิเคราะห์ปัญหาด้วยหลักการ 5M1E” ก็ได้
ตัวอย่างการใช้งาน Fishbone Diagram ตรวจสอบปัญหาของเครื่องจักร
แต่ในเชิงของทีมงานซ่อมนั้น เราไม่ได้สนใจในเรื่องของในเรื่องของ สภาพแวดล้อม (Environment) หรือ วัสดุ (Material) หรืออันอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องแบบในเชิงของการผลิต แต่เรามักจะแยกก้างปลาออกตามมาตรฐานการตรวจสอบปัญหาเครื่องจักร ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 6 ขาหลักๆ นั่นคือ
- ระบบไฮดรอลิก (Hydraulic) เช่น มีน้ำหรือของเหลวอื่นปะปน, ความดันน้ำมันไฮดรอลิกลดลง เป็นต้น
- ระบบนิวเมติกส์ (Pneumatic) เช่น แรงดันภายในระบบตก, มีน้ำผสมอยู่ในระบบลมอัด เป็นต้น
- ระบบส่งกำลัง (Transmission) เช่น พูลเล่ย์สึก, สายพานหย่อน เป็นต้น
- การหล่อลื่น (Lubrication) เช่น อัดจาระบีไม่ได้ตามสเปคที่กำหนดไว้, ใช้จาระบีหรือสารหล่อลื่นไม่เหมาะสมกับงาน
- ระบบไฟฟ้า (Electric) เช่น ต่อสายไฟสลับกันส่งผลให้มอเตอร์หมุนกลับทิศทาง, ไฟกระชาก, สายไฟไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นต้น
- การขันแน่น (Tightening) เช่น การขัดอัดแน่นจนเกินไป, การขันยึดโดยลืมใส่น้ำยาล็อคเกลียวในงานเฉพาะทาง เป็นต้น
ซึ่งหลักการสำหรับวิเคราะห์ปัญหาการชำรุดที่เกิดขึ้นนี้ ก็สามารถใช้หลักการแบบเดียวกับการวิเคราะห์ปัญหาของกระบวนการผลิต จึงทำให้ แผนภูมิก้างปลา (Fishbone Diagram) นั้นเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถเห็นสาเหตุของปัญหาได้อย่างครอบคลุมที่สุด แต่กระนั้นมันก็ยังมีความยาก หากข้อมูลในบางส่วนขาดตกบกพร่อง ก็จะทำให้การแก้ปัญหาทำได้ไม่ครอบคลุม
ก็จบไปกันแล้วนะครับสำหรับเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหา Breakdown ตัวที่ 2 Fishbone Diagram เป็นยังไงบ้าง…ทีนี้ต่อให้มีปัญหาเครื่องจักรเข้ามามากกว่าหนึ่งอย่าง เพื่อนๆก็สามารถเลือกได้แล้วว่า ควรแก้ปัญหาไหนก่อนเพื่อให้สามารถลดการเสียเวลาได้มากที่สุด