Home » Technical » Industrial Standard » งานซ่อมบำรุง คือ อะไร ทำไมจึงสำคัญ?

งานซ่อมบำรุง คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ?

เชื่อว่าในปัจจุบัน คำว่า “การซ่อมบำรุง” เป็นหลายสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมต้องเคยได้ยินกันมาบ้าง เพราะการซ่อมบำรุงถือเป็นอีกกระบวนการสำคัญซึ่งส่งผลต่อกระบวนการผลิต ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายชนิดและรูปแบบ ในบทความนี้เรามาดูตัวอย่างประเภทงานซ่อมบำรุงแบบต่างๆ กันครับว่ามีอะไรบ้าง

การซ่อมบำรุง คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ?

“การซ่อมบำรุง” คือ กิจกรรมในการดูแลรักษาสภาพเครื่องจักร/เครื่องมือ/อุปกรณ์การทำงานต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมสำหรับการใช้งานตลอดเวลา หากขาดการซ่อมบำรุงที่ดี ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร เสี่ยงต่อเครื่องจักรหยุดทำงาน นำไปสู่ปัญหาการ Breakdown ซึ่งจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการผลิตของโรงงาน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะเกิดขึ้นทั้งค่าซ่อม ค่าเสียเวลา-เสียโอกาสและอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้น การซ่อมบำรุง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกโรงงานควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

การซ่อมบำรุง คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ

การซ่อมบำรุงนั้นสามารถทำได้กับเครื่องจักร/อุปกรณ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ภายในโรงงาน ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น รถยนต์ โดยมีจุดประสงค์ให้อุปกรณ์นั้นสามารถทำงานได้อย่างดีและมีอายุการใช้งานยาวนานที่สุด

ประเภทของงานซ่อมบำรุง มีแบบไหนบ้าง?

งานซ่อมบำรุงนั้น คนส่วนมากเข้าใจว่ามันคือการที่ “เสียแล้วซ่อม” แต่จริงๆแล้วการซ่อมบำรุงนั้นมีหลากหลายระดับ ทั้งการซ่อมบำรุงเพื่อแก้ไขเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ชำรุด และการซ่อมบำรุงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชำรุด โดยสามารถแยกออกได้ขั้นต้นดังนี้


1.การซ่อมบำรุงเชิงแก้ไข (Corrective Maintenance)


“การซ่อมบำรุงเชิงแก้ไข” หรือชื่อที่คนสมัยก่อนนิยมเรียกว่า “การซ่อมบำรุงแบบ Break down (Breakdown Maintenance)” ถือเป็นกระบวนการซ่อมบำรุงที่พื้นฐานและมีมาอย่างยาวนานที่สุด ซึ่งกระบวนการซ่อมบำรุงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเครื่องจักร/ชิ้นส่วนอุปกรณ์ใช้งานเกิดการชำรุดเสียหาย จนไม่สามารถนำมาใช้งานได้แล้ว กล่าวคือ “เมื่อพังจึงซ่อม”
แม้อาจจะฟังดูขาดหลักการในการดูแลรักษาที่ดี แต่การซ่อมบำรุงเชิงแก้ไขนี้ ก็ยังคงถูกใช้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยมักจะใช้กับเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่ไม่ค่อยมีนัยสำคัญในการทำงาน เช่น โคมไฟแสงสว่าง, ก๊อกน้ำภายในห้องน้ำ, พัดลมระบายอากาศ เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์ข้างต้นที่ยกตัวอย่าง หากชำรุดจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการผลิตต่ำ/ไม่มีผลกระทบใดๆ อีกทั้งที่มีราคาถูก หาซื้อได้ทั่วไป จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดทำเป็นแผนงานซ่อมบำรุง แต่หากนำวิธีการนี้มาใช้กับเครื่องจักรผลิต แน่นอนว่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีแน่นอน

โคมไฟเพดาน

โคมไฟเพดาน ถืออุปกรณ์ที่ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อกระบวนการผลิต จึงไม่ค่อยมีการทำ PM มักถูกใช้งานจนกว่าจะชำรุด แล้วจึงเปลี่ยนใหม่

2.การบำรุงรักษาเชิงป้อง (Preventive Maintenance)


“การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน” หรือที่ถูกเรียกสั้นๆว่า การ PM เป็นกิจกรรมการเข้าซ่อมแซม/เปลี่ยนชิ้นส่วนของเครื่องจักรตามกำหนดการก่อนสิ้นสภาพการใช้งาน เพื่อป้องกันเครื่องจักรไม่ให้เกิดการชำรุดและนำไปสู่การเกิด Breakdown ขึ้น ซึ่งการทำการบำรุงรักษาเชิงป้องกันนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่นการตรวจด้วยสายตา, การขันแน่น, การหล่อลื่น/ทำความสะอาดชิ้นส่วนต่างๆ ที่สามารถทำได้ตั้งแต่รายวัน/รายสัปดาห์ ไปจนถึงการเปลี่ยนอะไหล่ และการ Overhaul ประจำปี

การบำรุงรักษาเชิงป้องกันมีด้วยกันกี่ประเภท ?

เมื่อพูดถึงการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน จะสามารถแยกย่อยได้เป็น 2 ประเภทหลัก ดังต่อไปนี้

1.การบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามระยะเวลา (Time-based Preventive Maintenance)

การบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามระยะเวลา (Time-based Preventive Maintenance) เป็นกระบวนการ PM ที่เราสามารถพบเห็นได้เยอะที่สุด โดยการทำการบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามระยะเวลานี้ สามารถหาข้อมูลอ้างอิงได้จากคู่มือของเครื่องจักร เช่น การล้างทำความสะอาดชุดกรองต้องทำทุก1สัปดาห์, ควรมีการอัดจาระบีช่วงล่างของรถยนต์ทุกๆ 6 เดือน เป็นต้น

ช่างทำการอัดจาระบีชิ้นส่วนของรถดันดิน

ช่างทำการอัดจาระบีชิ้นส่วนของรถดันดินตามช่วงเวลาที่มีกำหนดในคู่มือ ถือเป็นการ Time-Based PM รูปแบบหนึ่ง
ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการสึกและยืดอายุการใช้งานของชิ้นส่วนรถได้

2.การบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามปริมาณการใช้งาน (Usage-based Preventive Maintenance)

การบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามปริมาณการใช้งาน (Usage-based Preventive Maintenance) กล่าวคือ เนื่องด้วยอุปกรณ์บางชนิดมีการใช้งานที่หนักเบาแตกต่างกัน ในบางครั้งเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่มีใช้งานหนัก อาจต้องมีการซ่อมบำรุงก่อนแผนงานบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามระยะเวลา หรือซ่อมก่อนเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่มีใช้งานน้อยกว่า
ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถยนต์ทุกระยะทาง 7,500 ก.ม. หากเจ้าของรถยนต์ใช้รถในการเดินทางบ่อยก็จะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเร็วกว่าอีกคนที่ไม่ค่อยได้ใช้รถ เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นอีกด้วย

การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถยนต์

การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถยนต์ ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของ Usage-based PM เนื่องจากหากผู้ใช้งานรถยนต์ต้องขับขี่รถบ่อยๆ ก็จะทำให้น้ำมันเกิดความข้นหนืดและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น จึงทำให้รอบการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันถี่ขึ้นเช่นกัน

3.การบำรุงรักษาตามสภาพ (Condition Based Maintenance)

“การบำรุงรักษาตามสภาพ” เป็นขั้นพัฒนาของการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน แตกต่างจากวิธีการเดิมที่เน้นการกำหนดอายุการใช้งานของเครื่องจักร/อุปกรณ์แล้วเข้าเปลี่ยนตามระยะเวลา การบำรุงรักษาตามสภาพจะเน้นการซ่อมแซมเครื่องจักร/อุปกรณ์ตามลักษณะสภาพที่ชิ้นส่วนนั้นแสดงออกมา กล่าวคือ เมื่อเริ่มใช้งานครั้งแรกเครื่องจักรจะมีความสมบูรณ์พร้อม แต่เมื่อใช้งานไประยะเวลาหนึ่ง ชิ้นส่วนอุปกรณ์จะเริ่มเกิดการสึก/ชำรุด และจะเริ่มแสดงสัญญาณบางอย่างออกมา เช่น ค่าการสั่นสะเทือนผิดปกติ, อุณหภูมิสูงขึ้น, มีเสียงดังแปลกๆ, มีกลิ่นไหม้, มีคราบการรั่วซึม เป็นต้น โดยหากผู้ใช้งานหรือช่างสามารถตรวจพบสัญญาณที่แสดงออกมาเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยในการวางแผนซ่อมบำรุงและทำการเข้าแก้ไขซ่อมแซมก่อนที่เครื่องจักรอุปกรณ์จะชำรุดเสียหายได้ ซึ่งจะเป็นการดึงประสิทธิภาพของชิ้นส่วน/อุปกรณ์แต่ละชิ้นจนถึงขีดสุดก่อนทำการเปลี่ยนใหม่ ทำให้เกิดความคุ้มทุนสูงที่สุด

เครื่อง Thermal Scan เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ

เครื่อง Thermal Scan เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิซึ่งถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในการทำ Condition Based Maintenance โดยในรูปจะเป็นการตรวจวัดค่าความร้อน Globe Valve ของท่อสตรีม โดยหากชิ้นส่วน/อุปกรณ์เกิดค่าความร้อนสูงผิดปกติ อาจเป็นไปได้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวเริ่มเกิดการชำรุดแล้ว ทำให้ทีมช่างสามารถคาดการณ์และวางแผนงานซ่อมบำรุงได้ก่อนเกิด Breakdown อีกทั้งปัจจุบันนี้ ก็มีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆมาช่วยในการตรวจจับสัญญาณผิดปกติมากขึ้น เช่น Sensor แบบต่างๆซึ่งสามารถตรวจวัดค่าที่มีความละเอียดอ่อนซึ่งมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ ทำให้การบำรุงรักษาตามสภาพถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งโดยทั่วไป การบำรุงรักษาในระดับนี้จะมีชื่อเรียกว่า “การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance)”

Vibration Sensor เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการ Monitor ค่าการสั่งสะเทือนที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักร

Vibration Sensor เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการ Monitor ค่าการสั่งสะเทือนที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักร เช่นในรูปเป็นการตรวจวัดค่าการสั่นสะเทือนของเพลา หากค่าการสั่นสะเทือนมีการผิดแปลกไปจากปกติ อาจสันนิษฐานได้ว่า เครื่องจักรเกิดการปัญหาบางอย่าง เช่น Miss Alignment หรือ เพลาสึก เป็นต้น


4.การบำรุงรักษาเชิงรุก (Proactive Maintenance)


“การบำรุงรักษาเชิงรุก” ถือเป็นขั้นสูงของการซ่อมบำรุงรักษาของหน่วยงานซ่อมบำรุง โดยการบำรุงรักษาเชิงรุกจะเน้นการวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาการชำรุดนั้น เพื่อปรับปรุงแผนการดำเนินงานซ่อมบำรุง และสรรหาวิธี/แนวทางในการบำรุงรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาการชำรุดเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งสิ่งนี้ถูกเรียกว่า “การป้องกันการบำรุงรักษา (Maintenance Prevention)” เช่น การใช้อุปกรณ์กันน้ำในไลน์การผลิตที่ต้องมีการล้างทำความสะอาดบ่อยๆ, การใช้ท่อน้ำสเตนเลสแทนการใช้ท่อเหล็กเพื่อป้องกันการผุกร่อน/การเกิดสนิม เป็นต้น

ชุดอัดจาระบีอัตโนมัติ เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ช่วยในเรื่องของการ Maintenance Prevention โดยจะอัดจาระบีไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องจักรโดยไม่ต้องใช้ช่าง/คนงานในการอัดจาระบี เพื่อป้องกันการสึก/ชำรุดของชิ้นส่วนจากการเสียดสี เช่น Bearing เป็นต้น เหมาะกับเครื่องจักรที่มีการใช้งานอยู่ตลอดเวลาและเข้าทำ PM ได้ยากเป็นอย่างยิ่ง

Total Productive Maintenance คือ อะไร

แม้การซ่อมบำรุงจะถูกมองว่า เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานซ่อมบำรุง แต่หากต้องการบริษัท/โรงงานต้องการผลผลิตที่มีความคุ้มค่าและให้ผลกำไรสูงสุด เครื่องจักรที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจึงถือเป็นกุญแจสำคัญ ทำให้ในปัจจุบัน เกิดเทคนิคที่เรียกว่า “Total Productive Maintenance หรือ TPM” ที่ไม่เพียงแค่มุ่งเน้นให้มีการซ่อมบำรุงที่มีคุณภาพสูง แต่ยังมุ่งเน้นกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งกับการซ่อมและการใช้งานเครื่องจักร/อุปกรณ์ ไปจนถึงการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่สูงที่สุดและมีค่าใช้จ่ายต้นทุนต่ำที่สุด โดยเราจะมาพูดถึงหลักการนี้ในภายหลัง

ในการทำ TPM นั้นอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่ายในโรงงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายซ่อมบำรุง ฝ่ายผลิตและหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ โดยมุ่งหวังให้เกิดการซ่อมบำรุงที่มีประสิทธิภาพสูง ทันท่วงที มีการเสียเวลาและต้นทุนต่ำสุด)

จบไปแล้วนะครับสำหรับบทความ งานซ่อมบำรุงคืออะไร ทำไมจึงสำคัญ? จะเห็นได้ว่า การซ่อมบำรุงไม่ใช่สิ่งที่จะถูกมองข้ามไปได้ หากบริษัท/โรงงานต้องการการผลิตที่ต่อเนื่องและมีคุณภาพ ดังนั้นหากโรงงานของท่านยังคงใช้การซ่อมบำรุงแบบ Corrective Maintenance อยู่ ก็ถึงเวลาปรับเปลี่ยนได้แล้ว เพราะนอกจากจะไม่ต้องปวดหัวกับการปัญหา Breakdown เครื่องจักรที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังทำให้หน่วยงานจัดสรรตารางเวลาในการทำงานได้ง่าย ไปจนถึงใช้ในการวางแผนงบประมาณและช่วยปูรากฐานสำหรับการยกระดับขึ้นไปสู่การซ่อมบำรุงในระดับที่สูงขึ้นไป “การบำรุงรักษาเชิงรุก” หรือ “TPM” อย่างได้อีกด้วย

ค้นหารายการสินค้า​

ให้คะแนนเนื้อหาของเรา

กดที่ ดาว เพื่อโหวต

คะแนนเฉลี่ย 5 / 5. คะแนนโหวต: 4

โหวตให้เราคนแรกได้

We are sorry that this post was not useful for you!

Let us improve this post!

Tell us how we can improve this post?

ผู้เขียน
Technical Center Team

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google analytic

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save

ขอบคุณสำหรับความสนใจ

ทางทีมงานได้รับอีเมลของท่านแล้ว
จะรีบติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง