วิธีเลือกดอกสว่าน เพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
สารบัญ
เพื่อนๆ ทราบถึงชนิดของดอกสว่านกันมาแล้วใช่ไหมครับ ว่าดอกสว่านชนิดไหนเหมาะสมกับงานประเภทอะไร ในบทความนี้เราจะมาแนะนำการใช้ ดอกสว่าน อย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และคุ้มค่าต่อการใช้งานกันครับ เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันครับ
5 ข้อสำคัญในการพิจารณาเลือกดอกสว่าน
1.ความยาวของดอกสว่าน
ดอกสว่านในท้องตลาดมีความยาวมากมายให้เลือกใช้งาน แล้วความยาวแบบไหนเหมาะสมกันงานของเรากันล่ะ เมื่อลองพิจาณาในส่วนของความแข็งแกร่ง (rigidity) ของดอกสว่าน ดอกสว่านที่มีความยาวมากจะมีความแข็งแกร่ง (rigidity) ที่น้อยกว่า ซึ่งส่งผลให้ขณะที่ทำการเจาะมีโอกาสที่ดอกสว่านจะเกิดการส่ายได้ง่าย ข้อแนะนำก็คือ พยายามเลือกดอกสว่านที่มีความยาวน้อยที่สุดที่สามารถเจาะได้ความลึกที่ต้องการ
2.ความลึกของรูที่จะเจาะ
ระยะของรูเจาะที่่เหมาะสม | ระยะของรูเจาะที่่ไม่เหมาะสม |
---|---|
ความยาวของดอกสว่านนั้นมีผลกับระยะของรูเจาะ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงนั้นก็คือ ร่องคายเศษ (Flutes) มีหน้าที่คือการคายเศษวัสดุที่เกิดจากการเจาะรู หากเพื่อน ๆ เจาะรูลึกเกินกว่าระยะของร่องคายเศษ ผลที่ตามมาคือเศษวัสดุที่เกิดจากการเจาะ จะไม่สามารถเคลื่อนที่ออกจากร่องคายเศษได้ อาจจะทำให้ดอกสว่านมีโอกาสหักได้
ระยะแค่ไหนคือระยะที่เหมาะสมสำหรับการเจาะล่ะ?
ในการเจาะรูวัสดุนั้น ผมขอแนะนำให้เผื่อระยะของการคายเศษในขณะเจาะ ประมาณ 2 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางดอกสว่าน ตัวอย่างเช่น ดอกสว่านเจาะรูขนาด 6 mm. เพื่อน ๆ ควรเผื่อระยะของการคายเศษจากผิววัสดุประมาณอย่างน้อย 12 mm.
3.ชนิดของดอกสว่านกับปริมาณรูที่เจาะ
การเลือกดอกสว่านกับจำนวนรูเจาะนั้นมีความสำคัญต่อการเจาะอย่างไร ?
เพื่อนๆ ลองคิดดูนะครับหากเราทำการเจาะรูชิ้นงานจำนวน 10, 000 ครั้งในหนึ่งวัน ถ้าหากเราใช้ดอกสว่านไทเทเนียมไนไตรด์ (Titanium Nitride, TiN) ซึ่ง เจาะได้ 500 ครั้งต่อ 1 ดอกแล้วต้องทำการลับคมใหม่ เพื่อนๆ ต้องใช้ดอกสว่านถึง 20 ชิ้นใน 1 วันเลยทีเดียว หรือเพื่อน ๆ อาจจะใช้เพียง 10 ดอก แต่ต้องมาลับคมดอกสว่านบ่อยครั้ง ในทางกลับกัน หากเพื่อน ๆ เปลี่ยนมาใช้ดอกสว่านที่คุณภาพสูงขึ้น เช่น คาร์ไบด์(carbide) ที่สามารถเจาะชิ้นงานได้ประมาณ 50, 000 ครั้ง เพื่อน ๆ ก็จะสามารถลดเวลาในการเปลี่ยนดอกสว่านและลับคมดอกสว่านลงไปได้อีกมากเลยนะครับ โดยที่การเปลี่ยนหนึ่งครั้ง เราจะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เวลาในการเปลี่ยน เวลาในการลับดอกสว่าน นอกจากนี้เรายังจำเป็นต้องต้องทดสอบการทำงานทุกครั้งหลังจากเปลี่ยนดอกสว่าน ส่งผลให้เราจะต้องเสียพลังงาน และวัตถุดิบบางส่วนไปด้วย และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเราจะสูญเสียโอกาสในการผลิตในช่วงที่ดำเนินการเปลี่ยนดอกสว่านไปด้วยนะครับ
ทั้งนี้ บทความนี้เป็นเพียงส่วนนึงในการพิจาณาข้อมูลของการเลือกใช้ดอกสว่าน ซึ่งยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ต้องคำนวณ เช่น ปริมาณในการเจาะ ความถี่ในการใช้งานดอกสว่าน หากขนาดที่ใช้นั้นไม่ใช่ขนาดที่มีการใช้บ่อย อาจจะไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อดอกสว่านที่มีราคาสูง จุดคุ้มทุนของอุปกรณ์ และ อื่นๆ อีกมากมาย
4.มุมของดอกสว่าน
โดยทั่วไปแล้วมุมของดอกสว่านที่นิยมนำมาใช้ในเครื่องจักรประเภท CNC จะมีด้วยกัน 2 ค่าดังนี้
ดอกสว่านมุม 118 องศา | ดอกสว่านมุม 135 องศา |
ดอกสว่านมุม 118 องศา ใช้สำหรับเจาะวัสดุที่มีความแข็งน้อย เช่น อลูมิเนียม
ดอกสว่านมุม 135-140 องศา ใช้สำหรับเจาะวัสดุที่มีความแข็งสูง เช่น เหล็กกล้าไร้สนิม
5.Self-centering ของดอกสว่าน
ดอกสว่านที่มีการทำมุมของหัวดอกสว่านให้แหลม จะเรียกว่า self-centering มักพบเห็นได้ทั่วไปในดอกสว่านประเภท high speed steel with cobalt (HSS-Co) และ Carbine ข้อดีของดอกสว่านที่มี self-centering คือ สามารถเจาะชิ้นงานได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเจาะนำศูนย์ก่อนการเจาะชิ้นงานจริง ดอกสว่านที่ไม่มี self-centering มักพบได้ใน high speed steel ดังนั้นก่อนการใช้งานจึงจำเป็นต้องทำการเจาะนำศูนย์ เพื่อป้องกันการลื่นไถลในขณะเจาะวัสดุ
จบไปแล้วนะครับสำหรับ Tips and Tricks การเลือกใช้ดอกสว่านให้เหมาะสมกับการผลิต จริง ๆ แล้วมีข้อแนะนำอีกมากมายที่พบเจอได้ ตัวอย่าง เช่น ควรใช้สารหล่อเย็นในขณะเจาะชิ้นงาน ความเร็วของการเจาะ อื่น ๆ เพื่อนๆสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก แคตตาล็อกของผู้ผลิต และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดอกสว่านที่ดีที่สุดอาจไม่ใช้คำตอบของทุกการผลิต แต่ดอกสว่านที่เหมาะสมกับการใช้งานต่างหากคือคำตอบ สุดท้ายนี้เรามีคำศัพท์ที่น่าสนใจมาฝากกันเหมือนเดิมครับ
คำศัพท์ที่น่าสนใจ
No. | คำศัพท์ | คันจิ | ฮิรางานะ | คาตาคานะ | คำอ่าน |
---|---|---|---|---|---|
1 | ดอกสว่าน (Drill) | – | – | ドリル | Do-ri-ru |