โบลท์ชุบผิว แต่ละชนิดใช้งานแตกต่างกันอย่างไร
สารบัญ
อุปกรณ์ Fastener มีด้วยกันมากมายหลากชนิด ตัวอย่างเช่น นัท สกรู โบลท์ และอื่นๆ แต่เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมอุปกรณ์เหล่านี้จึงมีสีสันที่แตกต่างกัน เช่น สีเงินด้าน สีเงินมันวาว สีดำ สีรุ้ง สีเหลือง เป็นต้น ซึ่งแต่ละสีนั้นเกิดจากสารที่ใช้ในการเคลือบผิว แล้วสารเคลือบผิวแต่ละชนิดมีความสำคัญอย่างไร พร้อมตัวอย่างการใช้งาน โบลท์ชุบ แต่ละชนิด หาคำตอบได้ในบทความนี้
ทำไมต้องมีการชุบผิวโบลท์
การเคลือบผิวหรือการชุบผิว (Plating) เป็นหนึ่งในวิธีการเพิ่มคุณสมบัติให้กับอุปกรณ์ Fastener ทำให้มีคุณสมบัติที่ทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ป้องกันการเกิดสนิม ทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีการกัดกร่อนสูง ทนต่อความร้อน ทนต่อการเสียดสี หรือเพิ่มความสวยงามให้กับชิ้นงาน เป็นต้น
6 สารเคลือบผิวที่นิยมใช้กับโบลท์
ในบททความนี้ เราได้ยกตัวอย่างสารเคลือบผิวของโบลท์ ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมและสามารถพบเจอได้ทั่วไปตามท้องตลาด พร้อมกับตัวอย่างการใช้งานว่ามีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยครับ
1.โบลท์ชุบ ซิงค์(Zinc Plating)
การชุบซิงค์ (Zinc Plating) คือ การใช้กระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำให้ซิงค์หรือสังกะสีมาเคลือบติดกับผิวของโบลท์และนัท เพื่อป้องกันการเกิดสนิมและเพิ่มความสวยงาม โดยการชุบซิงค์จะมีด้วยกัน 3 สี คือ ซิงค์ขาว (White Zinc), ซิงค์เหลืองหรือรุ้ง (Yellow Zinc), และซิงค์ดำ (Black Zinc)
ข้อควรระวังในการใช้งานโบลท์ชุบซิงค์
ไม่เหมาะใช้งานในจุดที่มีความชื้นหรือกลางแจ้ง เพราะอาจเกิดสนิมได้ง่ายและไม่ทนต่อการกัดกร่อนจากสารเคมี
ตัวอย่างการใช้งานโบลท์ชุบซิงค์
โดยส่วนใหญ่แล้วโบลท์และนัทชนิดนี้มักจะนิบมใช้ในยานพาหนะต่างๆ รวมไปถึงงานยึดโครงสร้างอาคารที่อยู่ในร่ม นอกจากนี้ยังสามารถใช้ยึดชิ้นส่วนในเครื่องจักรทั่วไปได้ด้วยเช่นกัน
2.โบลท์ชุบ กัลวาไนซ์ (Hot Dip Galvanized)
การชุบกัลวาไนซ์แบบจุ่มร้อน (Hot Dip Galvanized) หรือ การชุบแบบ HDG คือ การนำโบลท์และนัทที่ผ่านกระบวนการเตรียมผิวมาจุ่มในสังกะสีหลอมเหลว ซึ่งจะเกิดการเคลือบของชั้นสังกะสี มีลักษณะเป็นสีเทาด้าน ความหนาประมาณ 40-65 ไมครอน ซึ่งหนากว่าการชุบซิงค์ 3-5 เท่า ทำให้โบลท์และนัทที่ชุบแบบ HDG สามารถทนต่อการเกิดสนิม รวมถึงการกัดกร่อนจากกรดและด่างได้ดี แต่จะมีราคาแพงกว่าการชุบซิงค์มาก
ข้อควรระวังในการใช้งานโบลท์ชุบกัลวาไนซ์
เนื่องจากชั้นเคลือบที่ค่อนข้างหนาจึงอาจส่งผลต่อการใช้งาน หากไม่ได้มีการเผื่อขนาดรูเจาะที่มากพอ และไม่ควรใช้กับระบบน้ำหรือระบบปะปาเพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของสังกะสี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว
ตัวอย่างการใช้งานโบลท์ชุบกัลวาไนซ์
โบลท์และนัทชนิดนี้นิยมใช้งานกลางแจ้ง ตัวอย่างเช่น งานเสาไฟฟ้า งานโครงสร้างทั่วไปหรือใช้ในไลน์เคมีต่างๆ เป็นต้น
3.โบลท์ชุบ ซิงค์เฟล็ค (Zinc Flake Coating)
การชุบชิงค์เฟล็ค (Zinc Flake Coating) หรือ การเคลือบเกล็ดสังกะสี คือ การใช้สารผสมระหว่างสังกะสีและอลูมิเนียมเป็นตัวเคลือบผิวของโบลท์และนัท ลักษณะเป็นสีเทา มีความหนาประมาณ 8-12 ไมครอน ประสิทธิภาพการป้องกันสนิมสูงกว่าการชุบแบบ HDG หลายเท่า รวมถึงยังทนต่อสารเคมีและความร้อนได้ดีกว่าอีกด้วย ที่สำคัญในกระบวนการเคลือบจะไม่มีส่วนประกอบของสารอันตราย จึงปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม
ข้อควรระวังในการใช้งานโบลท์ชุบซิงค์เฟล็ค
ไม่ควรใช้กับระบบน้ำหรือระบบปะปา เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของสังกะสี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว
ตัวอย่างการใช้งานโบลท์ชุบซิงค์เฟล็ค
ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เรือ เครื่องบิน รวมไปถึงงานโครงสร้างต่างๆ ที่ต้องการความคงทนเป็นพิเศษ เป็นต้น
4.โบลท์ชุบดำหรือรมดำ(Blackening / Black Oxide)
การชุบดำหรือการรมดำ (Blackening / Black Oxide) คือ การใช้สารเคมีทำปฏิกิริยากับโบลท์และนัทเหล็ก เพื่อให้ผิวเหล็กเกิดเป็นสนิมสีดำ(Black Oxide) ซึ่งเป็นชั้นเคลือบที่ช่วยป้องกันการกัดกร่อนของสนิมเหล็ก ทำให้ชิ้นงานดูสวยงาม ขนาดชิ้นงานหลังการรมดำไม่เปลี่ยนแปลงและมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก
ข้อควรระวังในการใช้งานโบลท์ชุบดำหรือรมดำ
ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานโบลท์และนัทที่รมดำบริเวณกลางแจ้งหรือบริเวณที่มีความชื้นเพราะจะทำให้เกิดสนิมได้ง่าย
ตัวอย่างการใช้งานโบลท์ชุบดำหรือรมดำ
ใช้ในงานทั่วไปไม่ว่าจะเป็นงานประกอบโครงสร้างเหล็กหรืองานประกอบเครื่องมือและเครื่องจักรในหลายๆ อุตสาหกรรม และมักมีการทาสีทับหรือใช้การทาน้ำมันเพื่อป้องกันการเกิดสนิมได้ดีอีกด้วย
5.โบลท์ชุบ โครมเมี่ยม(Chromium Plating)
การชุบโครมเมี่ยม (Chromium Plating) คือ การใช้กระแสไฟฟ้าและความร้อนทำให้สารโครมเมี่ยมเคลือบบนผิวของโบลท์และนัท เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการป้องกันสนิม ทนทานต่อการเกิดรอยขีดข่วนและเพิ่มความสวยเงางาม โดยการชุบโครมเมี่ยมมี 2 แบบคือ แบบไตรวาเลนท์ (Trivalent Chromium : Cr3+) และ แบบเฮกซะวาเลนต์ (Hexavalent Chromium : Cr6+) ซึ่งแบบ Cr6+ จะมีราคาที่ถูกกว่าและให้ความสวยเงางามมากกว่าแต่มีความเป็นพิษต่อสุขภาพของผู้ทำงานและสิ่งแวดล้อมจึงจำเป็นต้องมีระบบจัดการและการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากด้วยเช่นกัน
ข้อควรระวังในการใช้งานโบลท์ชุบโครมเมี่ยม
ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานที่มีการสัมผัสกับสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างสูง
ตัวอย่างการใช้งานโบลท์ชุบโครมเมี่ยม
ใช้ในงานเฟอนิเจอร์ งานตกแต่งรถยนต์และจักรยานยนต์ งานประกอบเครื่องจักรที่ต้องการโชว์ความสวยงาม เป็นต้น
6.โบลท์ชุบ นิเกิล (Nickel Plating)
การชุบนิเกิล (Nickel Plating) คือ การใช้สารนิเกิลเป็นตัวเคลือบบนผิวของโบลท์และนัทเพื่อป้องกันการเกิดสนิม เพิ่มความแข็งให้กับผิว ช่วยในการนำไฟฟ้า และเพิ่มความสวยเงางาม มีทั้งสีเงินและสีดำ โดยการชุบนิเกิลจะมี 2 แบบคือการชุบนิเกิลแบบใช้ไฟฟ้า(Electrolytic Nickel Plating) และการชุบนิเกิลแบบไม่ใช้ไฟฟ้า(Electroless Nickel Plating หรือ EN) การชุบแบบ EN จะมีราคาที่สูงกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าทั้งในด้านความหนาของชั้นนิเกิลที่สม่ำเสมอทั่วชิ้นงาน ด้านการทนต่อการเกิดสนิมรวมถึงการทนต่อการสึกกร่อนของผิวชิ้นงาน เป็นต้น
ข้อควรระวังในการใช้งานโบลท์ชุบนิเกิล
ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานที่มีการสัมผัสกับสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างสูง
ตัวอย่างการใช้งานโบลท์ชุบนิเกิล
ใช้เพื่อขันยึดจุดต่อสายไฟในอุปกรณ์ไฟฟ้าและขั้วแบตเตอรี่ หรือใช้ในงานที่ต้องการเน้นความสวยงามในติดตั้งเช่น งานเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ในห้องน้ำ และ อุปกรณ์ในครัวเรือน เป็นต้น
จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่ากระบวนการชุบผิวและสารเคมีที่ใช้ในการเคลือบผิวของโบลท์นั้น มีหลายชนิด นอกจากจะต้องพิจารณาข้อดีและข้อเสียของการชุบแต่ล่ะชนิดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมคุ้มค่าด้านราคา กับการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ อีกด้วย เพื่อนๆสามารถเลือกซื้อ โบลท์และนัทคุณภาพสูงจากทาง MISUMI ได้ที่นี่