รู้จัก “สายพาน” แต่ละชนิด พร้อมตัวตัวอย่างการติดตั้ง
สารบัญ
การส่งกำลังจากเพลาหนึ่งไปยังอีกเพลาหนึ่งมีวิธีการมากมาย เช่น การส่งกำลังผ่านเฟืองขบกัน การส่งกำลังด้วยโซ่ และ การส่งกำลังด้วย สายพาน โดยในบทความนี้เราจะมาดูข้อดีและข้อเสียของการส่งกำลังแบบสายพานกันครับ
ข้อดีและข้อเสีย ของการใช้งานสายพาน
ข้อดี
- ราคาถูก ใช้งานง่าย รับแรงสั่นสะเทือนได้ เสียงไม่ดัง เมื่อเทียบกับการส่งกำลังแบบฟันเฟือง
- เหมาะสำหรับการส่งกำลังระหว่างเพลา ที่มีระยะห่างระหว่างเพลามาก ๆ
ข้อเสีย
- อัตราทดไม่แน่นอน
- จำเป็นปรับระยะแรงดึงในสายพานหรือระยะห่างระหว่างเพลา เมื่อมีการใช้งานไปเป็นระยะเวลานาน
สายพานแต่ละชนิดที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรม
สายพานแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด โดยพิจารณาจากรูปร่างหน้าตัดของสายพาน
1.สายพานแบน (Flat belts)
สายพานแบน มีหน้าตัดของสายพานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นสายพานที่นิยมใช้กันมากในการส่งกำลังจากพูลเลย์ของเพลาขับไปยังพูลเลย์ของเพลาตาม ตัวอย่างการใช้งาน เช่น flat belt conveyor
2.สายพานวี หรือ สายพานลิ่ม (V-belts)
สายพานวีหรือสายพานลิ่ม มีหน้าตัดของสายพานเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู นิยมใช้กับการส่งกำลังในเครื่องจักรอุตสาหกรรม เช่น สายพานของเครื่องกลึง
3.สายพานกลม (rope belts)
สายพานกลม มีหน้าตัดของสายพานเป็นรูปวงกลมมีด้วยกัน 2 แบบ คือวงกลมตันและวงแหวน ส่วนใหญ่ทำมากจากพลาสติกโพลียูริเทน (Polyurethane) สามารถทนต่อ จารบี น้ำมัน และน้ำได้ อีกทั้งใช้งานไม่เกิดเสียงดังอีกด้วย มีให้เลือกใช้งานทั้งแบบวง (seamless) และ แบบเส้น (open end)
4.สายพานไทม์มิ่ง (timing belt)
สายพานไทม์มิ่ง มีหน้าตัดของสายพานเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู แต่จะมีร่องคล้ายกับฟันเฟืองตลอดความยาวของสายพาน สายพานชนิดนี้สามารถงอตัวได้ดี และไม่เกิดเสียงดังในขณะใช้งาน
รูปแบบการติดตั้ง สายพาน (Type of belt drive)
รูปแบบการขับเคลื่อนด้วยสายพานที่นิยมใช้ในการออกแบบเครื่องจักรอุตสาหกรรม มีด้วยกัน 5 รูปแบบ ดังนี้
1. การติดตั้งสายพานแบบ Open belt drive
เป็นการขับเคลื่อนสายพานที่ใช้เมื่อเพลาอยู่ในระดับเดียวกัน และต้องการให้เพลาทั้งสองนั้นหมุนไปในทิศทางเดียวกัน
2. การติดตั้งสายพานแบบ Crossed belt drive
เป็นการขับเคลื่อนสายพานที่ใช้เมื่อ เพลาอยู่ในระดับเดียวกัน และต้องการให้เพลาทั้งสองนั้นหมุนในทิศทางสวนกัน เหมาะสำหรับการส่งกำลังที่ไม่ต้องการความเร็วรอบสูง
ข้อควรระวัง จุดที่สายพานไขว้กันมีโอกาสที่จะเกิดการเสียดสีกันเอง ทำให้อายุการใช้งานสั้นลงอันเนื่องมาจากการสึกหรอ
3. การติดตั้งสายพานแบบ Quarter turn belt drive
ใช้เมื่อเพลาทั้งสองตั้งฉากกัน และเพื่อป้องกันไม่ให้สายพานหลุดออกจากล้อสายพานในขณะใช้งาน จึงต้องใช้ล้อสายพานที่กว้างมากพอ
4. การติดตั้งสายพานแบบ Step pulley หรือ Cone pulley belt drive
การขับของสายพานรูปแบบนี้ จะเห็นได้ว่าตัวพูลเล่ย์มีลักษณะเป็นชั้นๆ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางต่างกันในแต่ละชั้น ซึ่งส่งผลให้สามารถปรับความเร็วรอบในการใช้งานได้ โดยวิธีการใช้งานนั้นจะติดตั้งสายพานให้อยู่ระดับเดียวกัน นิยมใช้กับการส่งกำลังให้กับเครื่องจักรที่ต้องมีการปรับความเร็วรอบ ตัวอย่างเช่น เครื่องกลึง (lathe machine) ,เครื่องกัด (milling machine) เป็นต้น
5. การติดตั้งสายพานแบบ Jockey pulley belt drive
ในกรณีที่ไม่สามารถติดตั้งสายพานในรูปแบบ open belt drive ได้เพราะมุมสัมผัส (contact angle) บนล้อพูลเล่ย์มีขนาดเล็กเกินไปจนเกินไปจึงจำเป็นต้องใช้ Idler หรือ Jockey pulley เพื่อช่วยเพิ่มมุมสัมผัสให้มากขึ้น ส่งผลให้สามารถส่งกำลังได้มากยิ่งขึ้น
สายพานแต่ละชนิดมีความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกัน นอกจากนี้รูปแบบการติดตั้งสายพาน ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน หากเพื่อนๆ ออกแบบเครื่องจักรที่ต้องมีการปรับความเร็วรอบในการส่งกำลัง เพื่อนๆ สามารถที่จะติดตั้งในรูปแบบ Step pulley หรือ cone pulley belt drive ได้ เป็นต้น
จบกันไปแล้วนะครับสำหรับ บทความเรื่องของสายพานส่งกำลังในอุตสาหกรรม พร้อมตัวอย่างการติดตั้งสายพานรูปแบบต่างๆ สุดท้ายนี้เรามีคำศัพท์ที่น่าสนใจมาฝากกันเหมือนเดิมครับ
คำศัพท์ที่น่าสนใจ
No. | คำศัพท์ | คันจิ | ฮิรางานะ | คำอ่าน |
---|---|---|---|---|
1 | สายพาน (Belt) | – | ベルト | Be-ru-to |