การกำหนดขนาดร่องของโอริงให้เหมาะสม ทำอย่างไร
โอริง (O-ring) เป็นส่วนประกอบสำคัญของ อุปกรณ์ที่นำมาใช้ในระบบเครื่องจักรอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เป็นซีลป้องกันการของไหลรั่วซึมออกจากระบบ เช่น ของเหลว (Liquid) ประเภทน้ำมันในระบบไฮดรอลิค (Hydraulic system) หรือ แก๊ส (Gas) ในระบบนิวเมติกส์ (Pneumatic system) เป็นต้น ในบทความนี้เรามาดูกันครับว่า เราจะเลือกขนาดโอริงและกำหนดขนาดร่องของโอริงให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ได้อย่างไร
วิธีการพิจารณาขนาดร่องของโอริง ทำอย่างไร
ในการพิจารณาขนาดร่องของโอริงนั้น เพื่อนๆ ต้องพิจารณารูปแบบการติดตั้งโอริงก่อนว่าติดตั้งรูปแบบไหน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1 การติดตั้งโอริง ในชิ้นส่วนที่ไม่มีการเคลื่อนที่ (Static Seal)
การติดตั้งโอริง ในชิ้นส่วนที่ไม่มีการเคลื่อนที่ (Static Seal) หมายถึง การติดตั้งโอริงในชิ้นส่วนที่ไม่ได้มีการเคลื่อนที่ไปพร้อมกับตัวอุปกรณ์ ตัวอย่างเช่น ถังลม, วาล์วต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในการเลือกโอริงสำหรับการติดตั้งรูปแบนี้นั้น มีด้วยกัน 2 แบบคือ การเลือกโอริง สำหรับป้องกันแรงดันจากภายนอก และ การเลือกโอริง สำหรับป้องกันแรงดันจากภายใน
จากรูปจะเป็นการใช้งาน O-ring เพื่อทำการซีลแรงดันจากทั้งภายนอกและภายในของชิ้นงาน โดยตัวแปรแต่ละตัวมีความหมาย ดังนี้
D คือ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก(OD)
d คือ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน(ID)
G คือ ความกว้างของร่อง
H คือ ความลึกของร่อง
W คือ ความหนาของ O ring
1.1 การเลือกโอริง สำหรับป้องกันแรงดันจากภายนอก
ในการเลือก โอริง สำหรับป้องกันแรงดันจากภายนอกนั้น ให้เลือก โอริง ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน (d) แคบกว่าความกว้างของร่อง (G) เพียงเล็กน้อย ซึ่งเมื่อโอริงถูกแรงดันจากภายนอกมากระทำ จะสามารถปิดรอยต่อระหว่างชิ้นงานพอดี
1.2 การเลือกโอริง สำหรับป้องกันแรงดันจากภายใน
ในการเลือกโอริง สำหรับป้องกันแรงดันจากภายใน ควรเลือกโอริง ให้มีขนาดพอดีกับขอบนอกของความกว้างของร่อง (G) เพราะเมื่อมีแรงดันจากภายในมากระทำกับโอริง จะทำให้โอริงสามารถปิดรอยต่อระหว่างชิ้นงานพอดี
**จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นเนื่องจากโอริง มีหลายมาตรฐาน ตามแต่ละประเทศ จึงควรยึดตามคำแนะนำจาก Catalogue ของผู้ผลิตโอริง รายนั้นๆ
ในการออกแบบความลึกของร่องที่มีไว้สำหรับใส่โอริงของชิ้นงานนั้น จำเป็นต้องตื้นกว่าความหนาของโอริงเล็กน้อย เพื่อให้เมื่อชิ้นงานสองชิ้นประกบเข้าหากันแล้วโอริงจะถูกบีบอัดและซีลปิดร่องทั้งหมด
2.การติดตั้งโอริง ในชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่ (Dynamic Seal)
การติดตั้งโอริง ในชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่ (Dynamic Seal) หมายถึง การติดตั้งโอริงในชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่ของอุปกรณ์ ตัวอย่างเช่น การเคลื่อนที่ของตัวลูกสูบ (Piston) และแท่งเพลาของกระบอกสูบ (rod) ในระบบนิวเมติกส์หรือไฮดรอลิกส์ เป็นต้น เรามาดูตัวอย่างกันครับว่ามีวิธีการเลือกยังไงบ้าง
2.1. ตัวอย่างการติดตั้งโอริง เพื่อทำการซีลสำหรับแท่งเพลา
ในการติดตั้งโอริงลักษณะนี้ จะเป็นการใส่โอริงเข้าไปในร่องของชิ้นงานที่รองรับแท่งเพลาอยู่ โดยจำเป็นต้องทำการกลึงให้ได้ขนาดตามมาตรฐานที่ระบุไว้ ดังตัวอย่างในตาราง
***สาเหตุที่จำเป็นต้องทำขนาดช่อง ให้ได้ตามค่าในตารางเพราะว่าเมื่อเพลาหรือลูกสูบที่ติดตั้งกับโอริงเคลื่อนที่ จะมีการเสียดสีเกิดขึ้น หากทำช่องให้โอริง กว้างเกินไปความสามารถในการซีลของโอริงก็จะลดลง ทำให้อุปกรณ์เสียหายได้ หากทำช่องให้โอริงแคบเกินไป อายุการใช้งานของโอริงก็จะสั้นลง จึงควรทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตเพื่อป้องการกันสึกหรอของโอริง และช่วยยืดอายุการให้งานของโอริงให้ได้นานที่สุด
2.2 การติดตั้ง O ring เพื่อทำการซีลลูกสูบ
ในการติดตั้งโอริง ลักษณะนี้จะเป็นการใส่โอริง เข้าไปในร่องของลูกสูบ ดังนั้นในการออบแบบลูกสูบจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงตำแหน่งและขนาดของ O ring ที่จะนำมาใส่ด้วยเช่นกัน
****การติดตั้ง O ring ลงในเพลาหรือลงในลูกสูบ ทั้ง 2 แบบ สามารถใช้ขนาดของร่องสำหรับใส่โอริง จากตารางเดียวกันได้
จบไปแล้วนะครับสำหรับบทความการกำหนดขนาดร่องของโอริงให้เหมาะสม ทำอย่างไร เพื่อนๆ คงจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อยจากบทความนี้ แล้วพบกันใหม่กับบทความที่น่าสนใจในสัปดาห์หน้าครับ