เครื่องมือวิเคราะห์ปัญหาการชำรุดของเครื่องจักร ครบจบที่เดียว
สารบัญ
เพื่อนๆ ที่เคยทำงานซ่อมบำรุง คงเคยประสพกับปัญหาเครื่องจักรชำรุดด้วยปัญหาเดิมๆซ้ำๆ แบบไม่จบไม่สิ้น จนเกิดความสงสัยว่า “นี่เป็นเพราะเครื่องจักรผลิตมาแย่หรือเราผิดพลาดในกระบวนการซ่อม” กันบ้างไหมครับ? ถ้าทุกคนที่เข้ามาอ่านกำลังพบเจอกับปัญหานี้ ขอบอกเลยว่า ความผิดพลาดนั้นอาจจะไม่ได้มาจากทั้งคุณภาพของเครื่องจักร หรือขั้นตอนในการซ่อม… แต่ในหลายๆ ครั้ง มาจากกระบวนการที่ขาดตกบกพร่องในเรื่องของ “การวิเคราะห์เพื่อการแก้ไขปัญหา” นั่นเอง
โดยหัวข้อที่เราจะพูดถึงในวันนี้ ประกอบด้วยเนื้อหาต่อไปนี้
ทำไมจึงต้องวิเคราะห์ปัญหาการ Breakdown ของเครื่องจักร?
ในสมัยที่ตัวผมเองเพิ่งเริ่มงานใหม่ๆ ก็ได้พบกับปัญหาเครื่องจักรชำรุด (Breakdown) พวกนี้ซ้ำๆ แต่เกือบทุกครั้งเมื่อถามถึงสาเหตุ ช่างซ่อมบำรุงก็จะให้คำตอบเพียงคร่าวๆ แค่ “เพราะน็อตคลายตัว/ มอเตอร์ไหม้ครับ หัวหน้า” หรืออะไรทำนองนี้ แต่เมื่อถามลึกลงไปว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้น็อตเกิดการคลายตัว หรือสาเหตุที่มอเตอร์ไหม้ ช่างเหล่านั้นก็ไม่มีคำตอบให้ผม ในบางครั้งช่างบางคนก็ให้คำตอบผมกว้างๆ ว่า “มันเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ” โดยที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า อะไรคือเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเครื่องจักรชำรุด หรือ Machine Breakdown ในครั้งนั้น
ซึ่งเราทุกคนรู้ว่า…ถ้าหากเราต้องการจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด เราก็จำเป็นต้องระบุสาเหตุที่แน่นอนให้ได้ใช่ไหมครับ? จึงเป็นที่มาสำคัญของการวิเคราะห์ปัญหา Breakdown ของเครื่องจักร เพื่อให้เพื่อนๆ สามารถจัดการกับปัญหาที่เรื้อรังเหล่านี้ได้หายขาด ดังนั้นไม่ว่าเพื่อนๆ จะเป็นวิศวกร,หัวหน้าช่าง หรือแม้แต่เป็นช่างซ่อมบำรุงเอง ก็สามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในงานซ่อมบำรุงของเ้พื่อนๆ ได้ ทำให้เราไม่ต้องทำงานซ้ำซากน่าเบื่อ และต้องมาคอยตอบปัญหาผู้บริหารว่า “เพิ่งซ่อมไป…ทำไมมันพังอีกแล้ว?”
เครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหาการ Breakdown ของเครื่องจักร มีอะไรบ้าง?
สำหรับการวิเคราะห์ปัญหา Breakdown ของเครื่องจักรนั้น ขอบอกเลยว่ามีเครื่องมือมากมายหลายชนิดให้เลือกใช้งาน ซึ่งบางชนิดสามารถเข้าใจได้ง่าย ทำได้แบบทั่วๆไป ในขณะที่บางชนิดก็มีขั้นตอนกระบวนการที่ซับซ้อนสำหรับงานเฉพาะทาง แต่ในบทความนี้ ผมจะมานำเสนอเครื่องมือพื้นฐานที่ผมใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาทั่วไป โดยจะขออ้างอิงจากประสบการณ์ทำงานจริงของผม ซึ่งจะมีด้วยกัน 4 เครื่องมือดังนี้
- 5 Whys Analysis
- Pareto Chart
- Fishbone Diagram
- Failure Mode and Effects Analysis (FMEA)
ก่อนที่เราจะไปพูดถึงในการวิเคราะห์ปัญหา Breakdown แต่ละชนิดกันนั้น มีสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องย้ำเตือนเพื่อนๆ ผู้อ่านทุกท่านก่อนเลย นั่นก็คือ…ไม่ว่าเพื่อนๆ จะมีประสบการณ์ในการทำงาน มามากน้อยขนาดไหน “อย่าใช้สัญชาตญาณ/ความเคยชิน มาตัดสินปัญหา ก่อนจะได้เห็นว่า ปัญหาจริงๆ มันเกิดจากอะไร”
5 Whys Analysis หรือ Why-Why Analysis คือ อะไร
สำหรับเครื่องมือตัวแรกนั้น เป็นเครื่องมือมือที่เราพบเห็นกันได้บ่อย ไม่ว่าจะในงานซ่อมบำรุงหรืองานแก้ปัญหาอื่นๆ และในบางครั้งเราก็ใช้งานมันโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ นั่นก็คือ 5 Whys Analysis หรือ คนไทยส่วนใหญ่มักจะจำกันในชื่อของ Why-Why Analysis เสียมากกว่า 5 Whys Analysis นั้นถือเป็นวิธีการที่เข้าใจได้ง่าย หลักการของมันก็คือ การถามเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอสาเหตุของปัญหา โดยปกติแล้วจะถามทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งในบางครั้งเราอาจจะถามมาก หรือน้อยกว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อมูลเท่าที่เรามี
ตัวอย่างการใช้งาน 5 Whys Analysis หรือ Why-Why Analysis
ปัญหา : สายพานลำเลียงหยุดทำงานและมีกลิ่นเหม็นไหม้
ลำดับ | Why | Answer |
1 | ทำไมสายพานลำเลียงถึงหยุดทำงานและมีกลิ่นเหม็นไหม้? | ตรวจพบว่า กลิ่นเหม็นไหม้นั้นมาจากมอเตอร์ขับสายพานลำเลียงซึ่งภายหลังการตรวจสอบก็พบว่ามอเตอร์ดังกล่าวเกิดการช็อตขึ้น |
2 | ทำไมมอเตอร์ขับสายพานลำเลียงถึงเกิดการช็อตได้? | สาเหตุของการมีน้ำรั่วเข้าไปในชุดบล็อกไฟฟ้าของมอเตอร์ ตรวจสอบพบว่า มาจากขอบยางซีลกันน้ำชุดบล็อกไฟฟ้าของมอเตอร์ ไม่อยู่ในร่องตำแหน่ง แต่ในส่วนของเคเบิ้ลแกลนด์รัดสายไฟยังคงอยู่ในสภาพดี |
3 | ทำไมขอบยางซีลกันน้ำไม่อยู่ในร่องตำแหน่ง? | ตรวจพบว่า มีน็อตยึดฝาครอบชุดบล็อกไฟฟ้าของมอเตอร์ตัวหนึ่งขันแล้วฟรี น็อตตัวเมียหายไป จึงทำให้เกิดช่องว่าง เมื่อถูกฉีดล้างทำความสะอาด น้ำจึงรั่วซึมเข้าไปภายในได้ |
4 | ทำไมน็อตยึดฝาครอบชุดบล็อกถึงหลวมคลายได้? | ตรวจพบว่า ที่บริเวณปลายเกลียวของน็อตตัวผู้จึงไม่มีคราบของน้ำยากันคลาย ติดอยู่เลย |
5 | ทำไมที่เกลียวของน็อตตัวผู้จึงไม่มีคราบของน้ำยากันคลาย ติดอยู่? | ภายหลังการสอบถามจากช่างหน้างาน ได้ความว่า ในระหว่างการซ่อมน้ำ น้ำยากันคลายเกิดหมดพอดี ประกอบกับการต้องเร่งซ่อมให้เสร็จ จึงไม่ได้ไปเบิกน้ำยาเพิ่ม |
นี่เป็นตัวอย่างของการวิเคราะห์ด้วยหลักการ 5 Whys Analysis ครับ ซึ่งในตัวอย่างนี้เราจะเห็นกันได้เลยว่า สาเหตุของปัญหานั้นเกิดมาจากความประมาทเลินเล่อของช่างซ่อมบำรุง ไม่ได้มาจากอุปกรณ์แต่อย่างใด
ทำไมต้อง 5 Whys Analysis ?
เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหมครับ ว่าทำไมเขาถึงบอกให้ถามแค่ “5 ครั้ง” ทั้งๆ ที่การยิ่งถามเจาะลึกลงไป ก็ยิ่งเป็นการดีกว่าไม่ใช่เหรอ? เหตุผลก็คือ ในการสอบถามหาสาเหตุที่ลึกลงไปนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะยิ่งถามลึกเราก็ยิ่งเห็นต้นตอของปัญหาชัดขึ้น แต่หากเราขุดลึกเกินไปมันก็เสี่ยงที่จะเกิดการหลุดประเด็นขึ้นได้
ยกตัวอย่างจากข้างบน ถ้าผมถามช่างคนนั้นต่อว่า “ทำไมเขาไม่ไปเบิกน้ำยากันคลายมาเพิ่ม” เขาอาจจะทั้งยอมรับว่า เป็นตัวเขาที่มักง่ายเอง หรือกระทั่งบอกว่า “เพราะกระบวนการเบิกยุ่งยาก/ต้องเดินไปเบิกถึงคลังพัสดุ” ลามไปถึง “การต้องแข่งกับเวลา ให้รีบซ่อมได้ตามมาตรฐาน” หรืออะไรทำนองนั้นได้เลย ซึ่งนั่นก็จะกลายเป็นคำถามที่หาจุดสิ้นสุดไม่ได้ เพราะยอมรับเถอะครับ…ว่าไม่มีมนุษย์คนไหนอยากบอกว่าตัวเองเป็นคนผิดหรอก
จบไปกันแล้วนะครับสำหรับ บทความเกี่ยวกับ เครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหา Breakdown ตัวแรกอย่าง 5 Whys Analysis เป็นยังไงบ้าง…เดาว่าเพื่อนๆหลายคนคาดไม่ถึงเลยล่ะสิ ว่ามันจะเป็นเครื่องมือที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแค่ใช้เกณฑ์มาตรฐานมาควบคุมเท่านั้นเอง ก็กลายเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถืออีกตัวเลยทีเดียว
ในบทความถัดไป เราจะมาพูดถึงเครื่องมืออีกสองตัว ที่มีรูปแบบและการใช้งานที่ต่างออกไป นั่นคือ Pareto Chart และ Fishbone Diagram กัน อย่าลืมมาติดตามกันนะครับ