เครื่องวัดความตึงสายพานร่อง V ใช้งานอย่างไร
สารบัญ
- เครื่องวัดความตึงสายพานร่อง V ใช้งานอย่างไร
- ขั้นตอนที่ 1 : เตรียมเครื่องมือและเอกสารให้พร้อม
- ขั้นตอนที่ 2 : การเตรียมข้อมูล สำหรับการวัดความตึงสายพานร่อง V
- ขั้นตอนที่ 3 : ตั้งค่า ปากกาวัดความตึงสายพานร่อง V
- ขั้นตอนที่ 4 : วัดค่าแรงยุบตัวของสายพานร่อง V
- ขั้นตอนที่ 5 : อ่านค่าแรงยุบตัวของสายพานร่อง V จากเครื่องมือ
- ขั้นตอนที่ 6 : เปรียบเทียบค่าแรงยุบตัวที่อ่านได้ กับ ค่ามาตรฐาน
จากบทความ การตั้งสายพานร่อง V ไม่ได้ระดับมีผลเสียอย่างไร ? เราได้ทราบถึง ปัญหาที่เกิดจากการตั้งระดับสายพานที่ไม่เหมาะสมกันไปแล้วใช่ไหมครับ ในบทความนี้เราจะมาดูวิธีการใช้งาน เครื่องวัดความตึงสายพาน แบบปากกา กันครับว่าใช้งานอย่างไร และการอ่านค่าแรงยุบตัวของสายพานจากตารางทำได้อย่างไร ทั้งหมดนี้หาคำตอบได้ในบทความนี้
ขั้นตอนที่ 1 : เตรียมเครื่องมือและเอกสารให้พร้อม
ในการวัดความตึงของสายพานในรูปแบบของการวัดค่าแรงยุบตัวนั้น อุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ ปากกาวัดความตึงสายพาน, ตลับเมตร, และตารางสำหรับเปรียบเทียบค่าแรงยุบตัวของสายพาน
ขั้นตอนที่ 2 : การเตรียมข้อมูล สำหรับการวัดความตึงสายพานร่อง V
ก่อนเราจะทำการวัดค่าแรงยุบตัวของสายพานนั้น เราจะต้องทราบข้อมูลที่จำเป็นให้ครบถ้วนก่อนเสมอ ซึ่งประกอบด้วย
- วัดระยะห่างระหว่างจุดศูนย์กลางของพูลเล่ย์ฝั่งขับและฝั่งถูกขับ (ระย Belt Span) ในหน่วยนิ้ว : ข้อมูลชุดนี้ สามารถใช้ตลับเมตรวัดได้ ตามตำแหน่งดังรูป
- วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกเล็กสุดของพูลเล่ย์ ในหน่วย (mm.) : ข้อมูลชุดนี้ สามารถใช้ตลับเมตรวัดได้ ตามตำแหน่งดังรูป
3. ความเร็วรอบมอเตอร์ : ข้อมูลชุดนี้สามารถหาดูได้จาก Name plate ของ มอเตอร์ ดังรูป
4. สายพานที่ใช้ เป็นสายพานชนิดอะไร : ข้อมูลชุดนี้ สามารถดูได้จากรหัสบนสายพาน ดังรูป
ขั้นตอนที่ 3 : ตั้งค่า ปากกาวัดความตึงสายพานร่อง V
- ทำการหมุนปากกาวัดความตึงสายพานโดยรอบ เพื่อหาสเกลที่บอกระยะ Belt Span หลังจากนั้น ให้เลื่อนโอริงวงใหญ่ให้อยู่ในขีดสเกลที่อ่านค่าได้จาก ขั้นตอนที่ 2 ข้อที่ 1 ตัวอย่างเช่น ค่าระยะ Belt Span ที่อ่านได้ คือ 60 นิ้ว ให้เลื่อนโอริงวงใหญ่มาที่ตำแหน่งสเกล 60 โดยให้ขอบล่างของโอริงตรงกับขีดสเกล
- ทำการเลื่อนโอริงวงเล็กให้อยู่ตรงตำแหน่งเลข 0
ขั้นตอนที่ 4 : วัดค่าแรงยุบตัวของสายพานร่อง V
หลังจากที่ปรับตั้งทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ให้ใช้ฝั่งที่มีปลายแหลมวางลงบนสายพาน หลังจากนั้นให้ใช้นิ้วกดบริเวณก้านสำหรับกด โดยในระหว่างที่ทำการกดนั้น ให้คอยสังเกตอยู่ตลอดเวลาว่า ขอบล่างของโอริงวงใหญ่จะเสมอกับแนวเส้นสัมผัสของสายพานในสภาวะปกติเสมอ หรือ หากในกรณีมีสายพานตั้งแต่ 2 เส้นขึ้นไป สามารถใช้สายพานอีกเส้นเป็นเส้นอ้างอิงสำหรับบอกขอบเขตของการกดได้ เมื่อกดได้ระดับที่กำหนดไว้แล้ว ให้ทำการยกปากกาวัดความตึงสายพานออก
ขั้นตอนที่ 5 : อ่านค่าแรงยุบตัวของสายพานร่อง V จากเครื่องมือ
หลังจากที่ยกเครื่องวัดความตึงสายพาน ชนิดปากกาออกแล้ว จะพบว่าโอริงวงเล็กมีการเคลื่อนที่จากตำแหน่ง เลข 0 ไปยังค่าตัวเลขอื่น ซึ่งตัวเลขที่อ่านได้นั้นคือ ค่าแรงยุบตัวของสายพานนั่นเอง โดยค่าแรงยุบตัวของสายพานนั้น จะมีหน่วยอยู่ 2 รูปแบบ คือ kgf (Kilogram Force) และ lbf (Pound-Force) ซึ่งในการอ่านค่านั้น เพื่อนๆ ต้องดูฝั่งของสเกลแรงยุบตัวด้วยว่าเป็นหน่วยอะไร เพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้อง โดยในบทความนี้เราจะอ่านในหน่วยของ kgf จากในรูปจะอ่านค่าได้ ประมาณ 13 เกือบ 14
ขั้นตอนที่ 6 : เปรียบเทียบค่าแรงยุบตัวที่อ่านได้ กับ ค่ามาตรฐาน
ในขั้นตอนนี้เราจะมาพิจารณา ค่าแรงยุบตัวของสายพานว่า สายพานที่ทำการติดตั้งไปนั้น มีระดับควาามตึงของสายพานที่เหมาะสมหรือไม่ โดยพิจารณาร่วมกับข้อมูลเหล่านี้
ข้อมูลสำหรับใช้งานร่วมกับตารางอ่านค่าแรงยุบตัว ของสายพานร่อง V
ก่อนเราจะเอาค่าแรงยุบตัวของสายพาน ไปหาค่ามาตรฐานของสายพานนั้นๆ เรามาสรุปข้อมูลที่เราทราบกันก่อนครับว่ามีอะไรบ้าง
- สายพานร่อง V ที่ใช้อยู่ เป็นสายพานท้องแบบ หรือ สายพานแบบท้องฟัน -> สายพานแบน (จากขั้นตอนที่ 2 ข้อ 2)
- สายพานร่อง V ที่ใช้อยู่ เป็นสายพานเส้นเก่าหรือเส้นใหม่ -> กรณีนี้สมมุติให้เป็นเส้นใหม่
- สายพานร่อง V ที่ใช้ เป็นสายพานรหัสอะไร -> D (จากขั้นตอนที่ 2 ข้อ 2)
- ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกเล็กสุดของพูลเล่ย์ ในหน่วย (mm.) : กรณีนี้สมมุติวัดได้ 330 mm. (จากขั้นตอนที่ 2 ข้อ 3)
- ความเร็วรอบ มอเตอร์ -> 1200 RPM (จากขั้นตอนที่ 2 ข้อ 4)
- ค่าแรงยุบตัวของสายพานที่อ่านได้จากเครื่องมือวัด -> ประมาณ 13.8 kgf (จากขั้นตอนที่ 5 )
เมื่อนำข้อมูลดัง มาพิจารณาตามค่าในตารางจะได้ ดังนี้
เมื่อทำการเปรียบเทียบค่าแรงยุบตัวที่อ่านได้จากการวัดจริง (ประมาณ 13.8 kgf) เทียบกับค่ามาตรฐานตามเอกสาร (14.2 kgf) ผลที่ได้คือ สายพานร่องวี ที่เราติดตั้งใหม่ ความตึงของสายพานอยู่ในเกณฑ์ปกติ หากเราวัดค่าค่าแรงยุบตัวสายพานมากเกินไป (มากกว่า 14.2 kgf) นั่นแสดงว่าเราติดตั้งสายพานตึงจนเกินไป ต้องทำการปรับตั้งระยะสายพานใหม่อีกครั้งหนึ่ง
จบไปแล้วนะครับสำหรับบทความ วิธีการใช้งานเครื่องวัดความตึงสายพาน ชนิดปากกา หวังว่าเพื่อนๆ จะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อยจากบทความนี้ แล้วพบกันใหม่กับบทความที่น่าสนใจในสัปดาห์หน้า