ระบบลำเลียง (Conveyor System) คืออะไร
สารบัญ
ระบบลำเลียง (Conveyor System) คือระบบที่ใช้สำหรับลำเลียง ขนถ่ายหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของจากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยสามารถใช้งานได้ทั้งในแนวราบและแนวต่างระดับ ซึ่งปัจจุบันระบบลำเลียงมีความสำคัญและจำเป็นมากในอุตสาหกรรมทุกขนาด เนื่องจากเป็นระบบที่มีความเรียบง่ายแต่ให้ประสิทธิภาพสูง ทำให้เกิดผลดีกับกระบวนการผลิตในหลายๆด้าน เช่น ประหยัดเวลา เพิ่มปริมาณการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ลดความผิดพลาดจากการทำงานด้วยคน และเป็นพื้นฐานในกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติอีกด้วย
ส่วนประกอบหลักของระบบลำเลียงมีอะไรบ้าง
หลังจากได้รู้ความหมายและความสำคัญของระบบลำเลียงมาแล้ว สิ่งที่ต้องรู้ต่อไปคือ ส่วนประกอบหลักของระบบลำเลียงนั้นมีอะไรบ้าง แต่ล่ะส่วนนั้นมีหน้าที่อย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถึงแม้ว่าระบบลำเลียงแต่ล่ะประเภทจะดูต่างกันแต่ก็มักจะมีส่วนประกอบหลักที่จำเป็นต่อระบบคล้ายๆกัน ดังนี้
1.ส่วนโครงสร้าง (Structure/Frame Unit)
โครงสร้างของระบบลำเลียงเป็นส่วนประกอบพื้นฐานที่มีหน้าที่ในการรับแรงหรือรับน้ำหนักบรรทุกของสิ่งของรวมถึงน้ำหนักของส่วนประกอบอื่นๆ โดยมักทำจากเหล็ก สเตนเลสหรืออลูมิเนียม ซึ่งในการออกแบบโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงพอหรือไม่ได้มาตฐานก็อาจส่งผลเสียในกระบวนการลำเลียงได้นั่นเอง
2.ส่วนต้นกำลัง (Power Unit)
ส่วนต้นกำลัง คือส่วนที่ใช้ในการขับเคลื่อนระบบ โดยส่วนใหญ่จะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าและมักใช้งานร่วมกับระบบทดกำลังเพื่อให้ได้ค่าแรงบิดหรือความเร็วตามที่ต้องการ ซึ่งการทดกำลังอาจจะใช้เป็น ชุดเกียร์ทด ชุดพูลเล่ย์สายพาน หรือชุดเฟืองโซ่ เป็นต้น
3.ส่วนลำเลียง (Conveyor Unit)
ส่วนลำเลียงเป็นส่วนที่ใช้ในการบรรทุกหรือนำพาให้สิ่งของเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการ โดยส่วนลำเลียงแต่ล่ะประเภทก็จะใช้ชุดขับหรือชุดส่งผ่านการเคลื่อนที่แตกต่างกันไป ซึ่งชุดขับก็จะชื่อมต่อกับส่วนต้นกำลัง ส่วนลำเลียงที่นิยมใช้มีหลายประเภท เช่น ลูกกลิ้ง โซ่ลำเลียง สายพานลำเลียง เป็นต้น
4.ส่วนควบคุม (Control Unit)
ส่วนควบคุม คืออุปกรณ์ทางไฟฟ้าที่ใช้ในการเปิด-ปิด หรือสั่งการระบบลำเลียง สำหรับระบบง่ายๆทั่วไปอาจมีเพียงอุปกรณ์ไม่กี่ชิ้นที่ใช้ในการควบคุม เช่น เบรกเกอร์ แมกเนติก รีเลย์ และสวิทซ์เปิด-ปิด เป็นต้น แต่เมื่อระบบมีการใช้เซ็นเซอร์ อุปกรณ์วัดค่าต่างๆ หรือทำงานร่วมกับระบบออโตเมชั่นอื่นๆ ส่วนควบคุมก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย
ประเภทของระบบลำเลียงที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรม
ระบบลำเลียงที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมมีอยู่มากมายหลายประเภทซึ่งก็จะมีความเหมาะสมกับลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับน้ำหนักสิ่งของ ชนิดสิ่งของหรือวัสดุที่ต้องการลำเลียง รูปแบบเฉพาะตามกระบวนการผลิต รวมถึงสภาพแวดล้อมที่นำไปใช้งาน เป็นต้น เรามาดูกันว่าระบบลำเลียงที่เห็นได้ทั่วไปใน อุตสาหกรรมนั้้นมีประเภทอะไรบ้าง
ระบบลำเลียงแบบสายพาน (Belt Conveyor)
ระบบลำเลียงแบบสายพาน เป็นระบบลำเลียงที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุด โดยจะมีสายพานเป็นตัวลำเลียงหรือขนถ่ายสิ่งของ สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลายแบบเนื่องจากตัวสายพานมีชนิดให้เลือกมากมาย เช่น สายพาน PVC หรือ PU (PVC/PU Belt) สายพานยางดำ (Rubber Belt) สายพานลวดถัก (Wire Mesh Belt) หรือสายพานพลาสติก (Modular Belt) เป็นต้น เหมาะกับใช้งานทั่วไปไม่ว่าจะลำเลียงอาหาร ชิ้นส่วนเครื่องจักรต่างๆ บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆที่มีน้ำหนักไม่มากเกินไป
ระบบลำเลียงแบบโซ่ (Chain Conveyor)
ระบบลำเลียงแบบโซ่ คือระบบที่ลำเลียงโดยใช้โซ่ในการรับน้ำหนักบบรรทุก สามารถใช้กับงานที่มีน้ำหนักมากๆหรือมีขนาดใหญ่ได้ ในอุตสาหกรรมก็จะมีรูปแบบของการลำเลียงโดยโซ่หลายแบบตามลักษณะการใช้งาน เช่น การลำเลียงแนวราบซึ่งจะวางสิ่งของบนโซ่โดยตรงอาจใช้แนวโซ่มากกว่า 2 แนว หรือบางแบบจะบรรทุกสิ่งของบนแผ่นโลหะที่ยึดระหว่างแนวโซ่ เรียกว่า โซ่ลำเลียงแบบแผ่นระนาด (Slat Chain Conveyor) นอกจากนี้จะมีโซ่ลำเลียงในลักษณะการแขวน (Trolley Conveyor หรือ Overhead Conveyor) ซึ่งจะใช้โซ่ลักษณะพิเศษที่มีล้อหรือโรลเลอร์เพื่อให้ลากตัวแขวนงานไปตามรางได้ นิยมใช้กับงานที่มีความต่อเนื่องเป็นวงรอบเช่น ไลน์ชุบสี EDP ไลน์ล้างผิวชิ้นงาน หรือในอุตสาหกรรมอาหารบางประเภท เป็นต้น
ระบบลำเลียงแบบลูกกลิ้ง (Roller Conveyor)
ระบบลำเลียงแบบลูกกลิ้ง เป็นอีกหนึ่งระบบลำเลียงที่นิยมใช้ โดยสิ่งของจะถูกลำเลียงไปบนลูกกลิ้งที่เรียงต่อกันหลายๆอัน มีทั้งแบบลูกกลิ้งโลหะ พลาสติก โลหะเคลือบยาง หรืออาจเป็นลูกล้อก็ได้เช่นกัน ระบบลำเลียงแบบลูกกลิ้งสามารถใช้งานได้ในแนวตรง ลาดเอียง หรือเข้าโค้ง แบ่งได้ 2 ชนิดคือ ชนิดที่ไม่มีตัวขับ (Free Roller Conveyor) ชิ้นงานจะเคลื่อนที่ได้โดยมีแรงผลักหรือแรงส่งจากคนงานหรือจากกระบวนการผลิตก่อนหน้า ทำให้ชิ้นงานเลื่อนไปบนลูกกลิ้งซึ่งหมุนอย่างอิสระ และชนิดที่มีตัวขับ (Drive Roller Convey) ลูกกลิ้งแต่ล่ะตัวจะถูกขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ซึ่งส่งผ่านกำลังไปตามโซ่หรือสายพานที่เชื่อมต่อกันแบบอนุกรมระหว่างลูกกลิ้ง ทำให้ชิ้นงานสามารถเคลื่อนที่ไปได้ การใช้งานระบบลำเลียงแบบลูกกลิ้ง เช่น งานคลังสินค้า อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการผลิตทั่วๆไป
ระบบลำเลียงแบบสกรู (Screw Conveyor)
ระบบลำเลียงแบบสกรู ใช้หลักการหมุนของใบสกรู (Screw Flights) เป็นตัวส่งแรงเพื่อดันให้วัสดุเคลื่อนที่ไปข้างหน้าตามราง โดยส่วนใหญ่จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลัง ระบบลำเลียงนี้ถูกออกแบบมาเพื่อการขนถ่ายวัสดุที่มีปริมาณมากหรือวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการผลิตจำพวก ของเหลว วัสดุที่มีความเป็นเม็ด ก้อน หรือเกล็ด รวมถึงวัสดุแบบผงต่างๆ ซึ่งสกรูลำเลียงนั้นจะมีใบสกรูหลายๆแบบให้เลือกใช้งานตามลักษณะของวัสดุที่ต้องการขนถ่ายรวมถึงทิศทางที่จะใช้ลำเลียง เช่น ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิทช์มาตรฐาน ใบสกรูแบบไม่มีเพลา และใบสกรูแบบเรียวระยะพิทช์มาตรฐาน เป็นต้น ระบบลำเลียงแบบสกรูนิยมใช้ในการลำเลียงวัตถุดิบอาหาร วัตถุดิบทางการเกษตร เม็ดพลาสติก เศษโลหะเล็กๆ เป็นต้น
สำหรับบทความ รู้จักกับระบบลำเลียงในอุตสาหกรรม ก็จบเพียงเท่านี้ หวังว่าเพื่อนๆจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการตัดสินใจเลือกใช้งานระบบลำเลียงได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด บทความถัดไปจะเป็นเรื่องอะไร รอติดตามกันได้เลย