วิธีการใช้งาน Leveling gauge ในงานอุตสาหกรรม
สารบัญ
Leveling gauge คืออะไร
Leveling gauge หรือ เครื่องวัดระดับน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับวัดความลาดเอียงของพื้นผิว โดยใช้หลักการที่ฟองอากาศจะเคลื่อนที่ไปตำแหน่งสูงกว่าภายในของเหลว เมื่อเกจวัดมีความเอียง มักใช้ในเวลาติดตั้งเครื่องจักร หรือ ติดตั้งสายพานลำเรียง โดยไม่เพียงแต่ใช้เพื่อปรับให้ขนานกับพื้นเท่านั้น แต่ยังใช้กำหนดความลาดเอียงของลูกกลิ้งลำเรียงได้อีกด้วย โดยในขณะที่ระนาบที่ทำการวัดไม่มีความลาดเอียง ฟองอากาศจะอยู่บริเวณกึ่งกลางโดยขอบทั้ง 2 ฝั่งจะแตะอยู่เส้นกึ่งกลางของสเกลทั้ง 2 ฝั่ง ดังที่แสดงตามภาพด้านล่าง
วิธีการอ่านค่า Leveling gauge
เราสามารถอ่านค่าความลาดเอียงของระนาบ 2 จุดที่ทำการวัด ภายในระยะห่าง 1 m มีความสูงต่างกันกี่มิลลิเมตร โดยดูจากระยะที่ฟองอากาศเคลื่อนที่ไป เทียบกับสเกลบนหลอดแก้ว และระดับความละเอียดของเครื่องมือวัด
ระดับความไวในการวัด (Sensitivity)
ระดับความไวในการวัด (Sensitivity) ของเครื่องวัดระดับน้ำแบบละเอียดสำหรับงานอุตสาหกรรมนั้น จะแบ่งตามมาตรฐาน JIS (Japanese Industrial Standards) ออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- Grade A: 0.02mm / 1m
- Grade B: 0.05mm / 1m
- Grade C: 0.1mm/ 1m
ตัวอย่างการอ่านค่า เครื่องวัดระดับน้ำ
จากรูปที่แสดงด้านล่าง เครื่องวัดที่ใช้ มีความไวในการวัดอยู่ที่ 0.02mm / 1 m ต่อ 1 สเกล จะเห็นได้ว่าเมื่อฟองอากาศเคลื่อนที่ไปทางซ้าย 3 สเกล แสดงว่าด้านซ้ายจะมีระดับสูงกว่าด้านขวา 3 x 0.02 = 0.06 mm
โดยเลขความสูงที่คำนวณได้จากตัวอย่างข้างบน จะเป็นสำหรับ 2 จุด ที่ห่างกัน 1 เมตร โดยเราจะคำนวณหาค่าความสูงที่ควรปรับของขาแต่ละข้าง โดยดูจากระยะห่างของขาเครื่องจักร ตัวอย่างเช่น หากขาเครื่องจักรห่างกัน 1.5 เมตร ระดับความสูงที่ต่างกันของขาทั้ง 2 ข้างก็จะเท่ากับ 0.06 x 1.5 = 0.09 มิลลิเมตร นั่นเอง
ข้อควรระวังในการอ่านค่า จาก Leveling gauge
ค่า Sensitivity นี้จะหมายถึงค่าความสูงที่แตกต่างกัน ของตำแหน่งซ้ายขวา ที่ระยะห่างตามแนวนอนขนาด 1 เมตร ไม่ได้หมายถึงความสูงที่ต่างกัน ที่ขอบทั้งสองด้านของเครื่องมือวัด
ตัวอย่างการอ่านค่า เครื่องวัดระดับน้ำ
จากภาพด้านบน แสดงว่าฝั่งขวาจะอยู่สูงกว่าฝั่งซ้าย 0.05 มิลลิเมตร เทียบกับระยะแนวนอน 1 เมตร แต่หากวัดเทียบกับระยะแนวนอนที่เปลี่ยนไป ความสูงที่นำมาคิดจะแตกต่างไปด้วย เช่น หากวัดแค่ระยะของเครื่องวัด ซึ่งเท่ากับ 200 มิลลิเมตร ความสูงที่ได้จะเหลือแค่ 1 ใน 5 ส่วน (200mm/1000mm) จะเหลือความสูงแค่ 0.01 มิลลิเมตร เท่านั้น
ทำไมต้องคำนวณหาค่าความเอียง
เพื่อนๆ สงสัยกันมั้ยครับว่า เราจะคำนวณหาตัวเลขกันไปทำไม แค่ปรับจนกว่าฟองอากาศจะอยู่ตรงกลางก็พอแล้วรึเปล่า จริงๆก็มีสาเหตุหลัก 2 ข้อตามนี้ครับ
เพื่อความสะดวกในการปรับความสูงของขาตั้งเครื่องจักร
หากเราไม่ทราบความสูงควรปรับเราจะต้องปรับทีละขาไปพลาง ตรวจสอบตำแหน่งฟองอากาศไปพลาง อาจทำให้เสียเวลาในการปรับอย่างมาก แต่เมื่อเรารู้ค่าที่เหมาะสมแล้วเราก็จะสามารถวางแผนปรับพร้อมกันทุกขาได้เลย
เพื่อควบคุมมาตรฐานของเครื่องจักร
เนื่องจากองศาของการติตตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ในเครื่องจักร นอกจากจะมีผลต่อความแข็งแรงและคุณภาพการผลิตแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตที่ต้องทำงานร่วมกันหลายเครื่อง แต่เราก็คงไม่สามารถ ปรับองศาความต่างให้เป็น ±0°พอดีได้ จึงทำได้แค่ควบคุมให้อยู่ในค่าคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้นั่นเอง
การเตรียมการก่อนใช้งาน
- ควรมีการปรับสอบเทียบ (Calibration) ตามกำหนด อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าค่าที่วัดได้จะมีความถูกต้องแม่นยำ
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่จะทำการวัด ให้สะอาดก่อนทำการวัดทุกครั้ง
จบไปแล้วนะครับ สำหรับวิธีการใช้เครื่องวัดระดับน้ำ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเครื่องมือวัดที่ต้องการความแม่นยำสูงมาก จึงควรควรใช้งานด้วยความระวังอย่างสูง หากถูกกระทบกระเทือนก็อาจทำค่าที่วัดคลาดเคลื่อนได้ หากเพื่อนสนใจในสินค้า ก็สามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่นี่ แล้วพบกันใหม่ที่บทความถัดไปนะครับ สวัสดีครับ