3 เคล็ดลับการเลือกใบเลื่อยจิ๊กซอว์
เคยสงสัยกันไหมครับว่า “ถ้าเราต้องการจะตัดชิ้นงานที่มีความเรียบของรอยตัดสูง เราควรเลือกใบเลื่อยแบบไหนถึงจะเหมาะ?” หรือ “ทั้งๆที่เป็นใบเลื่อยประเภทเดียวกัน แต่ทำไมซี่ฟันเลื่อยถึงมีความถี่ไม่เท่ากัน?” วันนี้ผมจะพาเพื่อนๆมาทำความรู้จักกับ ‘3 เคล็ดลับการเลือกใบเลื่อยจิ๊กซอว์ ที่ฉลากบรรจุภัณฑ์ไม่ได้บอกไว้ ’ ซึ่งจะช่วยให้เพื่อนๆ สามารถเลือกซื้อใบเลื่อยจิ๊กซอว์ได้เหมาะสมกับการใช้งานมากยิ่งขึ้น
เลือกใบเลื่อยจิ๊กซอว์อย่างไรดี?
อย่างที่ทราบกันดีว่า ใบเลื่อยจิ๊กซอว์ (Jigsaw Blade) มีหลายขนาด, หลายรูปแบบ และหลากหลายวัสดุที่ใช้ในการผลิต ซึ่งสามารถอ่านคุณสมบัติเหล่านี้ได้ตามฉลากบรรจุภัณฑ์ของใบเลื่อย แต่ถ้าหากเพื่อนๆต้องการตัดชิ้นงานซึ่งมีข้อกำหนดหรือมีความต้องการเฉพาะอย่าง เพื่อนๆก็จำเป็นต้องพิจารณาสิ่งสำคัญ 3 ข้อต่อไปนี้ประกอบการตัดสินใจซื้อ เพื่อที่จะสามารถตัดชิ้นงานได้ตามความต้องการ
1. ด้ามจับหรือบ่าสวมของใบเลื่อยจิ๊กซอว์
ในบางครั้ง หลายๆคนก็เรียกว่า ด้ามจับใบเลื่อยนี้ว่าเป็นบ่าสวมใบเลื่อยก็ได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ
- ด้ามจับแบบ U-Shank โดยที่ส่วนปลายของใบเลื่อย จะมีลักษณะเป็นบ่าเว้าหรือมีการเจาะรู เพื่อใช้จับกับสกรูในการยึดใบเลื่อยกับหัวจับของเลื่อยจิ๊กซอว์ ซึ่งส่วนมากจะเป็นเลื่อยจิ๊กซอว์รุ่นเก่าที่ใช้ด้ามจับรุ่นนี้
- ด้ามจับแบบ T-Shank เป็นด้ามจับซึ่งจะใช้แคลมป์หนีบใบเลื่อยไว้ สังเกตได้ว่า ที่ส่วนปลายจะมีลักษณะเป็นหัวมนหรือหัวตัด เพื่อให้เข้ากับร่องภายในของเลื่อยจิ๊กซอว์ ทำให้สามารถเปลี่ยนใบเลื่อยได้สะดวกและรวดเร็วกว่า U-Shank ซึ่งเลื่อยจิ๊กซอว์ในปัจจุบันนี้ จะเน้นใช้ด้ามจับแบบ T-Shank เป็นส่วนมาก
2. ลักษณะของใบเลื่อย
สำหรับลักษณะของใบเลื่อยนั้นจะสามารถแบ่งแยกย่อยออกมาได้เป็น 3 ส่วน ด้วยกัน
ความยาวของใบเลื่อย : ความยาวใบเลื่อยควรมีความยาวมากกว่าความหนาของชิ้นงานอย่างน้อยประมาณ 2.5 ซ.ม. ขึ้นไปเพื่อลดโอกาสที่ใบเลื่อยจะเกิดการติดขัดระหว่างเคลื่อนที่ขึ้นลง
ความกว้างของใบเลื่อย : จากในรูปด้านล่าง เพื่อนๆจะเห็นได้ว่าใบเลื่อยทั้งสองใบ ใช้สำหรับงานเลื่อยไม้เหมือนกัน แต่ใบด้านล่างกลับมีความกว้างของใบน้อยกว่าใบด้านบน ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อให้สามารถตัดเป็นมุมโค้งได้ดีกว่าใบเลื่อยใหญ่ที่เน้นการตัดในแนวตรง
จำนวนฟันเลื่อยต่อนิ้ว (Teeth per inch – TPI) ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด ซึ่งส่งผลต่อความเรียบเนียนของรอยตัด โดยจากรูปใบเลื่อยงานไม้ด้านล่าง จะเห็นว่า ใบเลื่อยหมายเลข 1 และหมายเลข 3 ถือเป็นใบเลื่อยที่มีค่า TPI สูง เนื่องจากมีฟันเลื่อยที่มีขนาดเล็กและเรียงชิดติดกัน จึงมีส่วนช่วยในการตัดผิวชิ้นงานให้เรียบ และยังช่วยในการตัดเข้ามุมโค้ง หรือมุมแคบๆได้ดี แต่ก็มีข้อเสียในเรื่องของการใช้เวลานานในการตัด แตกต่างจากใบเลื่อยหมายเลข 2 ซึ่งเป็นใบเลื่อยที่มีค่า TPI ต่ำ เนื่องมีฟันเลื่อยขนาดใหญ่และเรียงตัวห่างกัน ซึ่งส่งผลทำให้มีการตัดชิ้นงานได้เร็วกว่า แต่ผิวงานจะไม่ค่อยเรียบ
3. วัสดุของใบเลื่อยจิ๊กซอว์
ถือเป็นส่งสำคัญที่ควรพิจารณาร่วมด้วยเช่นกัน โดยวัสดุที่นิยมเลือดใช้กันส่วนใหญ่มีด้วยกัน 4 ชนิด คือ
- ใบเลื่อยชนิดเหล็กกล้าคาร์บอนสูง (High Carbon Steel – HCS)
- ใบเลื่อยชนิดเหล็กกล้าความเร็วสูง (High Speed Steel – HSS)
- ใบเลื่อยชนิด Bimetal (BIM)
- ใบเลื่อยชนิดทังสเตนคาร์ไบด์ (Tungsten Carbide)
จบไปแล้วนะครับสำหรับ บทความ 3 เคล็ดลับการเลือกใบเลื่อยจิ๊กซอว์ เพื่อนๆ คงจะได้รับความรู้ในการเลือกใบเลื่อยเพิ่มมากขึ้น ในบทความถัดไป เราจะมาเจาะลึกคุณสมบัติ และลักษณะของใบเลื่อยแต่ละแบบ มีความแตกต่างกันอย่างไร รวมไปถึงค่า TPI ของใบเลื่อยมีความสำคัญอย่างไรในการเลือกใบเลื่อยเหล่านี้