แนะนำชนิดบานพับที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
สารบัญ
ในงานอุตสาหกรรมนั้น การเลือกบานพับที่เหมาะสมมาใช้งาน ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เชื่อมต่อชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่ได้เข้าด้วยกันเท่านั้น มันยังเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความทนทาน อีกทั้งยังเหมาะสมกับการใช้งานรูปแบบต่างๆ ที่ต้องการได้อีกด้วย โดยในบทความนี้ เราจะพาไปแนะนำกับบานพับรูปแบบต่างๆ ชื่อเรียก รวมไปถึงวิธีการเลือกใช้บานพับที่เหมาะสมกับงานกันนะครับ
ชนิดบานพับที่นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมีอะไรบ้าง
บานพับที่นิยมใช้ในงานอุตสาหกรรมมีมากมายหลายชนิด ซึ่งมักจะเน้นไปที่ความทนทานต่อการใช้งาน ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย รวมถึงเหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานแบบต่างๆอีกด้วย โดยในบทความนี้เราจะมาแนะนำบานพับทั้งหมด 6 ชนิดที่นิยมใช้ในงานอุตสาหกรรม ได้แก่ บานพับแบบต่อเนื่อง (Continuous Hinges), บานพับผีเสื้อ (Butt hinge), บานพับแบบปกปิด (Concealed Hinges), บานพับแรงบิด (Torque Hinges), บานพับแบบถอดได้ (Detachable Hinges) และ บานพับเหล็กแบบเชื่อม (Weld-On Steel Hinges)
บานพับแบบต่อเนื่อง (Continuous Hinges)
หรือที่เรียกว่าบานพับเปียโน (Piano hinges) บานพับชนิดนี้ จะยาวตลอดความยาวบานประตู ทำให้มีการกระจายน้ำหนักที่สม่ำเสมอ จึงทำให้ช่วยลดความเครียดบนบานพับได้ ในระบบอัตโนมัติในโรงงาน มักจะพบบานพับเหล่านี้ในตู้ขนาดใหญ่ แผงเครื่องจักร หรือประตูพับ ซึ่งต้องการความมั่นคงและความทนทานเป็นอย่างมาก
บานพับผีเสื้อ (Butt hinge)
หรือบานพับแบบแบน (Flat hinge) นับได้ว่าเป็นบานพับอเนกประสงค์ที่ติดตั้งง่ายและมีขนาดที่หลากหลาย ทำให้เป็นตัวเลือกทั่วไปสำหรับประตู ตู้ และฝาครอบของเครื่องจักรระบบอัตโนมัติที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในโรงงานทั่วไป
บานพับแบบปกปิด (Concealed Hinges)
หรือบานพับแบบซ่อน (Hidden hinges) เป็นบานพับถูกซ่อนอยู่เมื่อประตูปิด ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานที่คำนึงถึงความสวยงามและความปลอดภัย มักจะถูกติดตั้งอยู่ในแผงควบคุม ประตูทางเข้า หรือตู้เครื่องจักรในระบบอัตโนมัติในโรงงาน
บานพับแรงบิด (Torque Hinges)
เป็นบานพับที่ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างต้านการเคลื่อนที่ มักจะถูกใช้กับบานประตูที่เปิดขึ้นตามแนวดิ่งโดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้ประตูปิดลงมาเอง หรือขยับไปมาตามแรงสั่นสะเทือนของเครื่องจักร โดยจะมีทั้งแบบที่แรงต้านคงที่ และแบบที่สามารถปรับแรงต้านได้ โดยจะมีทั้งโครงสร้างที่เพิ่มความฝืดของบานพับ หรือโครงสร้างที่ใช้ปรับแรงต้านของสปริง
บานพับแบบถอดได้ (Detachable Hinges)
หรือบานพับแบบธง (Flag hinges) เป็นบานพับชนิดที่ถูกออกแบบให้สามารถถอดออกได้อย่างง่ายดาย มักจะถูกติดตั้งอยู่ในส่วนที่จำเป็นต้องมีการถอดออกบ่อยๆ เพื่อความสะดวกในการทำงาน เช่นการถอดประตูเครื่องจักรเพื่อเพิ่มความสะดวกในการบำรุงรักษา โดยในการติดตั้งจะต้องเริ่มใส่จากบานพับชิ้นล่างที่มีแกนยาวกว่าเสมอ
ปัจจัยที่สำคัญในการเลือกใช้บานพับ
ความสามารถในการรับโหลด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีประตูหรือแผงหนา จะคำนวณแรงบิดที่ใช้กับบานพับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการระบุน้ำหนัก ระยะห่างจากบานพับถึงจุดศูนย์ถ่วง และการคำนวณแรงบิดที่ใช้ เลือกบานพับที่มีความสามารถในการรับน้ำหนักเกินแรงบิดที่คำนวณได้ โดยสามารถดูตัวอย่างการคำนวณโหลดที่บานพับแต่ละตำแหน่งได้ตามรูปด้านล่าง
รูปแบบการใช้งาน
เราควรเลือกรูปแบบการใช้งานให้เหมาะสมกับงาน ไม่ว่าจะเป็นแบบที่เปิดแบบทั่วไป เช่น บานพับผีเสื้อ (Butt hinges), บานพับที่ต้องการรับโหลดสูงๆ เช่น บานพับเปียโน (Piano Hinges) และ บานพับเหล็กแบบเชื่อม (Weld-On Steel Hinges), บานพับที่ต้องการรักษาตำแหน่งเมื่อเปิด เช่น บานพับแรงบิด (Torque Hinges), บานประตูที่ต้องการถอดเพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำงานก็จะใช้บานพับแบบถอดได้ (Detachable Hinges) รวมถึงบานประตูที่ต้องการซ่อนกลไกบานพับไว้เมื่อปิดก็จะใช้ บานพับแบบปกปิด (Concealed Hinges) เป็นต้น
วัสดุของบานพับ
วัสดุของบานพับมีอยู่หลากหลาย จึงต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมที่บานพับจะทำงานในการเลือกอยู่เสมอ เช่นสแตนเลสเพื่อคุณสมบัติในด้านต้านทานการกัดกร่อน หรือเหล็กชุบสังกะสีเพื่อความสมดุลระหว่างความแข็งแกร่งและราคา การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าบานพับสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมการทำงานได้โดยปราศจากปัญหาในการใช้งาน
โปรดจำไว้ว่าบานพับไม่ได้เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพและอายุการใช้งาน รวมไปถึงความราบรื่นในการทำงาน ดังนั้นการเลือกบานพับที่เหมาะสมสำหรับเครื่องจักรในระบบอัตโนมัติในโรงงาน จึงจำเป็นต้องประเมินอย่างรอบคอบเกี่ยวกับความสามารถในการรับน้ำหนัก การเลือกวัสดุ สภาพแวดล้อม ประเภทการเคลื่อนไหว ตัวเลือกการติดตั้ง ความง่ายในการติดตั้ง รวมถึงพิจารณาด้านต้นทุน จะทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าบานพับที่เลือกสามารถรองรับการใช้งานที่คุณต้องการได้ ในสัปดาห์หน้าเราจะมีบทความอะไรมานำเสนอ เชิญมาติดตามไปพร้อมๆกันนะครับ รู้ครบจบที่นี่ MiSUMi Technical