การอ่านค่าตัวต้านทานไฟฟ้า แบบแถบสี ทำได้อย่างไร
สารบัญ
ตัวต้านทานไฟฟ้า (Resistor) เป็นส่วนประกอบสำคัญในวงจรไฟฟ้าช่วยในการจำกัดปริมาณการไหลของกระแสไฟฟ้าไม่ให้ไหลเกินกว่าที่กำหนด มีหลายขนาดและหลายชนิดให้เลือกใช้งาน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าตัวต้านทานที่เราเลือกใช้นั่นมีค่าความต้านทาน (Ω) เท่าไหร่ ในบทความนี้เราจะมาดูวิธีการอ่านค่าความต้านทานกันครับ
ตัวต้านทาน คืออะไร
ตัวต้านทาน (Resistor) เป็นส่วนประกอบสำคัญในวงจรไฟฟ้าช่วยในการจำกัดปริมาณการไหลของกระแสไฟฟ้าไม่ให้ไหลเกินกว่าที่กำหนด ส่วนใหญ่มักใช้ในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีหลายชนิดให้เลือกใช้งาน รวมไปถึงรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกันออกไป
การอ่านค่าตัวต้านทานแบบแถบสี หรือ แบบฟิล์มคาร์บอน ทำได้อย่างไร
ในการอ่านค่าตัวต้านทานนั้น จำนวนแถบสี และลำดับของแถบสีต่างก็มีผลต่อค่าความต้านทาน ซึ่งมีหน่วยเป็น โอห์ม(Ω) เรามาดูวิธีการอ่านค่าตัวต้านทาน ทั้งแบบ 3 แถบ 4 แถบ 5 แถบ และ 6 แถบกันครับว่าแตกต่างกันอย่างไร
การอ่านค่าความต้านทานของตัวต้านทาน 3 แถบ และ 4 แถบ
ในการอ่านค่าความต้านทานของตัวต้านทานชนิด 3 แถบและ 4 แถบมีวิธีการอ่านที่เหมือนกันนั่นก็คือ
- แถบสีลำดับที่ 1 แทนด้วยค่าตัวต้านทานลำดับที่ 1
- แถบสีลำดับที่ 2 แทนด้วยค่าตัวต้านทานลำดับที่ 2
- แถบสีลำดับที่ 3 แทนความหมายด้วยตัวคูณ
- แถบสีลำดับที่ 4 แทนความหมายด้วยค่าความคลาดเคลื่อนของตัวต้านทาน
***ในกรณีต้วต้านทาน 3 แถบสี จะไม่แถบสี (None) ตรงบริเวณนี้ ซึ่งหมายถึง จะมีค่าความคลาดเคลื่อน ±20% นั่นเอง***
การอ่านค่าความต้านทานของตัวต้านทานชนิด 5 แถบ
การอ่านค่าตัวต้านชนิด 5 แถบสีจะเห็นได้ว่ามีแถบสีหนึ่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีวิธีการอ่านค่าที่แตกต่างจากเดิมเล็กน้อย เรามาดูกันครับว่าวิธีการอ่านค่าตัวต้านทานชนิดนี้ ทำได้อย่างไร
- แถบสีลำดับที่ 1 แทนด้วยค่าตัวต้านทานลำดับที่ 1
- แถบสีลำดับที่ 2 แทนด้วยค่าตัวต้านทานลำดับที่ 2
- แถบสีลำดับที่ 3 แทนด้วยค่าตัวต้านทานลำดับที่ 3 (ในกรณีที่มีแถบสีตั้งแต่ 5-6 แถบ)
- แถบสีลำดับที่ 4 แทนด้วยค่าตัวคูณ
- แถบสีลำดับที่ 5 แทนด้วยค่าความคลาดเคลื่อนของตัวต้านทาน
การอ่านค่าความต้านทานของตัวต้านทานชนิด 6 แถบ
ในการอ่านค่าแถบสีของตัวต้านทานนั้น มีการอ่านที่คล้ายกับแบบ 5 แถบ แต่แถบสีที่เพิ่มขึ้นมาอีกแถบคือ แถบแสดงค่าสัมประสิทธิ์อุณหภูมิของความต้านทาน
- แถบสีลำดับที่ 1 แทนด้วยค่าตัวต้านทานลำดับที่ 1
- แถบสีลำดับที่ 2 แทนด้วยค่าตัวเลขตัวต้านทานลำดับที่ 2
- แถบสีลำดับที่ 3 แทนด้วยค่าตัวเลขตัวต้านทานลำดับที่ 3
- แถบสีลำดับที่ 4 แทนค่าด้วยตัวคูณ
- แถบสีลำดับที่ 5 แทนด้วยค่าเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อน
- แถบสีลำดับที่ 6 แทนค่าด้วยค่าสัมประสิทธิ์อุณหภูมิต่อความต้านทาน (Temperature Coefficient of Resistance)
สัมประสิทธิ์อุณหภูมิของความต้านทาน (Temperature Coefficient of Resistance) คืออะไร
สัมประสิทธิ์อุณหภูมิของความต้านทาน (Temperature Coefficient of Resistance) คือ ค่าความต้านทานที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่ออุณหภูมิของตัวต้านทานมีการเปลี่ยนแปลง 1°C ซึ่งมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ
- Positive Temperature Coefficient (PTC) คือ เมื่ออุณหภูมิของตัวต้านทานสูงขึ้น 1 องศา จะส่งผลให้ค่าความต้านทานมีค่าสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
- Negative temperature coefficient (NTC) คือ เมื่ออุณหภูมิของตัวต้านทานสูงขึ้น 1 องศา จะส่งผลให้ค่าความต้านทานลดลง ซึ่งสวนทางกับค่าอุณหถูมิที่สูงขึ้น
จบไปแล้วนะครับสำหรับวิธีการอ่านค่าตัวต้านทานชนิดแถบสี เพื่อนๆ คงจะได้รับความรู้พื้นฐานและวิธีการอ่านค่าแถบสีของตัวต้านทานแบบต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง แล้วพบกันใหม่กับบทความที่น่าสนใจในสัปดาห์หน้า