ถังดับเพลิง ในงานอุตสาหกรรม มีกี่ชนิด
สารบัญ
ปัจจุบัน ถังดับเพลิง มีมากมายให้เลือกใช้งานในท้องตลาด แต่ก็มีผู้ใช้งานจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าถังดับเพลิงแต่ละประเภท เหมาะกับการดับไฟประเภทไหนบ้าง หากใช้งานผิดประเภทนอกจากจะดับไฟไม่ได้แล้ว ยังอาจเกิดอันตรายที่มากขึ้นอีกด้วย ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่า ประเภทของไฟ และ ชนิดของถังดับเพลิง มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้
ไฟมีกี่ประเภท ?
สมาคมป้องกันอัคคีภัยของสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association : NFPA) แบ่งชนิดของไฟตามลักษณะและปฏิกิริยาของการเผาไหม้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทดังนี้
ไฟประเภท A (Class “A”)
ไฟประเภท A (Class “A”) เป็นไฟที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของแข็งทั่วไป ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้า พลาสติก กิ่งไม้ กระดาษ ยาง พลาสติก เป็นต้น
ไฟประเภท B (Class “B”)
ไฟประเภท B (Class “B”) เป็นไฟที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของเหลว, ก๊าซและสารไวไฟ ตัวอย่างเช่น น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม(LPG) แอลกอฮอล์ ทินเนอร์ เป็นต้น
ไฟประเภท C (Class “C”)
ไฟประเภท C (Class “C”) เป็นไฟที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากกระแสไฟฟ้าอาร์คหรือสปาร์คกันทำให้เกิดประกายไฟ ตัวอย่างเช่น การใช้งานไฟฟ้าเกินกำลัง ไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น
ไฟประเภท D (Class “D”)
ไฟประเภท D (Class “D”) เป็นไฟที่เกิดจากวัตถุของแข็งจำพวกโลหะไวไฟ และสารที่ทำปฏิกิริยากับน้ำ ตัวอย่างเช่น สารแมกนีเซียม (Magnesium), สารโซเดียม (Sodium), สารไทเทเนียม (Titanium) เป็นต้น
ไฟประเภท K (Class “K”)
ไฟประเภท K (Class “K”) เป็นไฟที่เกิดจากน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหาร และไขมันสัตว์ ตัวอย่างเช่น น้ำมันที่มีอุณภูมิสูงจัดในการประกอบอาหาร เป็นต้น
ถังดับเพลิง มีกี่ประเภท ?
ในบทความนี้เราจะยกตัวอย่างถังดับเพลิง ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ว่ามีถังดับเพลิงอะไรบ้างที่พบเจอได้บ่อยในชีวิตประจำวันและในโรงงานอุตสาหกรรม
ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (Water Extinguishers)
ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (Water Extinguishers) ใช้สำหรับดับเพลิงไหม้ที่เกิดจากวัสดุของแข็งทั่วไป (Class A) ตัวอย่างเช่น ไม้ กระดาษ พลาสติก ผ้า เหมาะสำหรับการใช้ดับเพลิงภายใน/ภายนอกอาคาร ที่พักอาศัย เป็นต้น ลักษณะของถังจะมีฉลากเป็นสีแดงและมีตัวหนังสือสีขาวระบุไว้
ข้อควรระวังในการใช้งานถังดับเพลิงชนิดน้ำ
ไม่ควรใช้ถังดับเพลิงชนิดนี้ดับไฟนอกเหนือจากไฟประเภท A เพราะอาจจะเกิดอันตรายที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ดับไฟที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งอาจจะทำให้เกิดไฟรั่วได้
ถังดับเพลิงชนิดโฟม (Foam Extinguishers)
ถังดับเพลิงชนิดโฟม(Foam Extinguishers) เหมาะสำหรับการดับไฟประเภท A และ B ซึ่งเกิดจากการจากเชื้อเพลิงประเภทของแข็ง และเชื้อเพลิงที่เป็นสารเคมีไวไฟ เหมาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง ห้องเก็บสารเคมี และ ปั๊มน้ำมัน ลักษณะของถังดับเพลิงชนิดนี้จะเป็นถังสแตนเลส ในส่วนของการใช้งานเมื่อไฟดับลงแล้ว คราบโฟมที่เกิดขึ้นอาจจะมีส่วนทำให้ชิ้นงานเกิดความเสียหายตามมาในภายหลังได้ จึงควรระมัดระวังในการใช้งาน ลักษณะของถังจะมีฉลากเป็นสีครีมและมีตัวหนังสือสีดำระบุไว้
ข้อควรระวังในการใช้งานถังดับเพลิงชนิดโฟม
ถังดับเพลิงชนิดนี้ไม่ควรใช้ดับไฟที่เกิดจากการลุกไหม้ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เพราะว่าโฟมมีส่วนผสมของน้ำซึ่งเป็นสื่อในการนำไฟฟ้า จึงไม่เหมาะกับการดับไฟประเภท C
ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide Extinguishers)
ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide Extinguishers) หรือ ถัง CO2 เหมาะสำหรับการดับไฟประเภท A และ B ซึ่งเกิดจากเชื้อเพลิงประเภทของแข็ง และเชื้อเพลิงที่เป็นสารเคมีไวไฟ เมื่อเวลาที่ไฟดับลงจะไม่ทิ้งคราบสิ่งสกปรกไว้ในบริเวณรอบ ๆ ทำให้ถังดับเพลงชนิดนี้นิยมใช้สำหรับการดับเพลิงใน บริเวณไลน์การผลิต ห้องควบคุม ลักษณะของถังดับเพลิงชนิดนี้ปลายปากกระบอกฉีดจะมีพลาสติกสีดำขนาดใหญ่สวมอยู่เพื่อช่วยให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พุ่งได้ระยะไกลมากยิ่งขึ้น ลักษณะของถังจะมีฉลากเป็นสีดำและมีตัวหนังสือสีขาวระบุไว้
ข้อควรระวังในการใช้งานถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ไม่ควรใช้งานถังดับเพลิงชนิดนี้ในพื้นที่แคบ เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเข้าไปแทนที่ออกซิเจนภายในบริเวณนั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งานได้
ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical Extinguishers)
ผงเคมีแห้ง (Dry Chemical Extinguishers) เหมาะสำหรับการดับไฟประเภท A, B และ C ซึ่งเกิดจากเชื้อเพลิงทั่วไป,สารไวไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้า ถังดับเพลิงชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้ในที่โล่งแจ้ง เช่น ลานจอดจอดรถ โรงงานอุตสาหกรรม และที่พักอาศัย ข้อสังเกตคือลักษณะของถังจะมีฉลากเป็นสีฟ้าและมีตัวหนังสือสีขาวระบุไว้
ข้อควรระวังในการใช้งานถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง
เมื่อเปิดใช้งานถังดับเพลิงชนิดนี้แล้ว 1 ครั้งไม่ว่าจะใช้งานหมดหรือไม่หมด จะไม่สามารถใช้งานในครั้งถัดไปได้ เพราะแรงดันภายในถังดับเพลิงตก จึงต้องส่งให้บริษัทผู้จัดจำหน่ายทำการอัดแรงดันให้ใหม่
ถังดับเพลิงชนิดสารสะอาด (Halotron 1 Extinguishers)
ถังดับเพลิงชนิดสารสะอาด (Halotron 1 Extinguishers) หรือในบางครั้งอาจจะเรียกกันว่า ถังดับเพลิงฮาโลตรอนวัน สามารถใช้ดับเพลิงประเภท A, B และ C ซึ่งเกิดจากเชื้อเพลิงทั่วไป, สารไวไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้ายกเว้น Class D และ K เหมาะสำหรับการใช้งานในห้องคอมพิวเตอร์ ห้องคลีนรูม ไลน์การผลิต ห้องไฟฟ้า เป็นต้น
ข้อควรระวังในการใช้งานถังดับเพลิงชนิดสารสะอาด
ก่อนการใช้งานถังดับเพลิงชนิดนี้จำเป็นต้องอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ก่อน เพราะสารดับเพลิงชนิดนี้มีทำฎิกิริยากับไฟ จะทำให้เกิดสารพิษจำพวกไฮโดรเจนเฮไลด์ (Hydrogen Halides) ซึ่งเป็นอันตรายกับระบบทางเดินหายใจ
จบไปแล้วนะครับสำหรับบทความเกี่ยวกับ ประเภทของไฟ และ ถังดับเพลิงแต่ละชนิด หวังว่าเพื่อนๆจะได้รับความรู้มากมายไปใช้สำหรับการเลือกซื้อและเลือกใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับประเภทของไฟที่ต้องการจะดับ และสถานที่ใช้งาน หากเพื่อนๆ สนใจสินค้าเซฟตี้ชนิดอื่นๆนอกเหนือจากถังดับเพลิง เช่น ป้ายความปลอดภัย สามารถเลือกซื้อเพิ่มเติมได้ที่นี่ สุดท้ายนี้เรามีคำศัพท์ที่น่าสนใจมาฝากกันเหมือนเดิมครับ
คำศัพท์ที่น่าสนใจ
No. | คำศัพท์ | คันจิ | ฮิรางานะ | คำอ่าน |
---|---|---|---|---|
1 | ถังดับเพลิง (Fire Extinguisher) | 消火器 | しょうかき | Shō-ka-ki |